เข็มขาวเขา

Pavetta nervosa Craib

ไม้พุ่ม กิ่งอ่อนมีขนประปราย ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกลม ผลสุกสีค่อนข้างดำ

เข็มขาวเขาเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. เปลือกเรียบ สีเขียวอ่อน กิ่งอ่อนมีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๑๔-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือสอบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบาง เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยพอเห็นได้ทางด้านบนและเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขนประปราย หูใบระหว่างก้านใบบาง รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ยาวไม่เกิน ๘ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ทรงช่อเป็นรูปกรวย ค่อนข้างโปร่ง โคนช่อใหญ่และช่อย่อยมีใบประดับ ๑ คู่ ทุกส่วนของช่อมีขนนุ่ม ดอกสีขาว รูปดอกเข็ม ยาว ๑.๕-๒ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายหยักเป็นติ่งสั้น ๔ ติ่ง มีขนตามผิวด้านนอก กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดเรียว ปลายแยกเป็นแฉกรูปขอบขนานแคบ ๔ แฉก ส่วนที่เป็นหลอดยาว ๒-๓ เท่าของส่วนที่เป็นแฉก โคนแฉกมีขนครุย เมื่อดอกบานเต็มที่ปลายแฉกพับมาทางโคนหลอด เกสรเพศผู้ ๔ อัน เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก ยาวพ้นหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒(๔) ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวพ้นหลอดกลีบดอก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. ปลายผลด้านบนมีส่วนของกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผลสุกสีค่อนข้างดำ เมล็ด ๑-๔ เมล็ด

 เข็มขาวเขาเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบขึ้นตามชายป่าดิบและตามเกาะทางภาคใต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มขาวเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pavetta nervosa Craib
ชื่อสกุล
Pavetta
คำระบุชนิด
nervosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย