ตองแตบเป็นไม้ต้น สูง ๓-๑๕ ม. กิ่งเป็นสันตามยาว มีขุยสีน้ำตาลอ่อนอมเทาหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปคล้ายรูปสามเหลี่ยม รูปไข่แกมรูปคล้ายสามเหลี่ยม หรือรูปไข่กว้าง กว้าง ๘-๒๘ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนกว้าง ตัดกว้าง หรือกลม ก้นปิด ใกล้โคนใบมีต่อมน้ำต้อยขนาดเล็กหลายต่อม ขอบเรียบหรือหยักซี่ฟันห่างแผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นใบ
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ดอกสีเขียวอ่อน ช่อดอกเพศผู้เป็นช่อแยกแขนงเล็กซ้อนกันค่อนข้างแน่น กว้างได้ถึง ๙ ซม. ยาวได้ถึง ๑๐ ซม. มีแกนช่อ ๓-๔ ชั้น ทุกแขนงกางออกมาก มีขนสั้นนุ่ม แขนงสุดท้ายคล้ายเส้นด้าย ยาวประมาณ ๑ ซม. ใบประดับเล็ก ขนาดประมาณ ๑ มม. ตั้งตรง ปลายมน มีขุยติดแน่น ใบประดับย่อยคล้ายใบประดับ มีขนาดเล็กกลุ่มดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ระยะห่างเท่า ๆ กัน เมื่อแก่กลุ่มดอกไม่ซ้อนกัน แต่ละกลุ่มมีดอกประมาณ ๖ ดอก ดอกเพศผู้รูปทรงกลม ก้านดอกยาวประมาณ ๐.๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๒-๓ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศผู้ประมาณ ๑๕ เกสร อับเรณูมี ๔ ช่อง ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมันช่อดอกเพศเมียเป็นช่อกระจะเล็กซ้อนกันแน่น กว้าง ๓-๕ ซม. ยาวได้ถึง ๗ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยคล้ายกับช่อดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก รูปไข่กว้าง ๒-๒.๘ มม. ยาว ๒-๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๒-๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด มีขนแข็งหนาแน่น ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒-๓ ก้าน ยาว ๐.๕-๑.๕ มม. คล้ายขนนก ยอดเกสรเพศเมียยาว ๔.๕-๖ มม. ผิวเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๒ พู กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. เกลี้ยงสีน้ำตาลดำ เมื่อแห้งเห็นต่อมเล็ก ๆ สีเข้ม กลีบเลี้ยงติดทน ก้านผลใหญ่แข็ง ยาวได้ถึง ๑ ซม. แต่ละพูมี ๑ เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม
ตองแตบมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบทั่วไปตามป่าละเมาะ ไหล่เขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่แอฟริกา หมู่เกาะมาดากัสการ์ อินเดีย เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา จีน ลาว คาบสมุทรมลายู อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก
ประโยชน์ ใช้เป็นสมุนไพร รากเป็นยาถ่าย เมล็ดเป็นยาถ่ายอย่างแรง ใช้แทนสลอด.