ตองลาดใบเกลี้ยงเป็นไม้ต้น เกลี้ยง กิ่งเล็กเรียว ผิวหยาบ ตายอดมีเกล็ดคล้ายใบหุ้มซ้อนเหลื่อม เมื่อเกล็ดร่วงมีรอยแผลเหนือกระจุกใบ
ใบเดี่ยว กึ่งเรียงเป็นวงรอบ มี ๔ ใบ หรือเรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๓-๓.๕ ซม. ยาว ๗-๑๓ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างมีนวล เส้นกลางใบนูนเด่นชัดทางด้านล่าง มีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบเล็ก มีข้างละ ๖-๗ เส้น ออกจากเส้นกลางใบทำมุม ๓๐-๔๐ องศา ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ นูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบเล็กเรียว ยาว ๓-๕ ซม. เกลี้ยง
ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือช่อซี่ร่ม ออกเป็นช่อเดี่ยวตามปล้องหรือบนกิ่งย่อยสั้น ใบประดับร่วงง่าย มีรอยแผลที่โคนช่อดอก ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน กลีบรวมโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกบาง ๖ แฉก เรียงซ้อนเหลื่อม แฉกชั้นนอกใหญ่กว่าแฉกชั้นในเล็กน้อย เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น แฉกชั้นในเกลี้ยง ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๙ เกสร เรียงเป็น ๓ วง เกสรวงนอกและเกสรวงกลางไร้ต่อม ส่วนเกสรวงในมีต่อมแบบมีก้านที่โคนก้านชูอับเรณู ๒ ต่อม ก้านชูอับเรณูยาว ๗-๗.๒ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๒-๒.๕ มม. ปลายแหลม อับเรณูแตกแบบฝาเปิดทางด้านเดียวกัน มี ๔ ช่อง แยกเป็นด้านบน ๒ ช่อง ด้านล่าง ๒ ช่อง หันเข้า (ยังไม่พบดอกเพศผู้) ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาว ๐.๓-๐.๕ มม. แฉกกลีบรวมรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๐.๕-๐.๗ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. ด้านนอกเกลี้ยงถึงมีขนยาวห่าง ด้านในเกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี กว้าง ๐.๓-๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียอวบ ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแบบก้นปิด มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๙ เกสร
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด มีเมล็ด ๑ เมล็ด (ยังไม่พบ)
ตองลาดใบเกลี้ยงเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออก ตามป่าดิบแล้ง ออกดอกเดือนพฤศจิกายน.