ชงโค ๓

Bauhinia pottsii G. Don var. velutina (Wall. ex Benth.) K. Larsen et S. S. Larsen

ชื่ออื่น ๆ
ตุ้ยควาย (ระนอง)
ไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปเกือบกลม ปลายเว้าเป็น ๒ แฉก ลึกลงมาประมาณหนึ่งในสามของความยาวแผ่นใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกตูมรูปกระบอง กลีบดอกสีแดง ขอบกลีบสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบนรูปแถบ ปลายกว้างและเรียวแหลมเป็นจะงอย รอยเชื่อมด้านหลังหนานูน เมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลม

 ชงโคชนิดนี่เป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปเกือบกลม กว้าง ๔-๑๕ ซม. ยาว ๖-๑๔ ซม. ปลายเว้าเป็น ๒ แฉก ลึกลงมาประมาณหนึ่งในสามของความยาวแผ่นใบส่วนเว้ากว้าง ปลายแฉกกลม โคนรูปหัวใจหรือเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนสั้นสีเขียวแกมเทา ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มสีเทาโดยเฉพาะบริเวณเส้นใบ และมีต่อมสีน้ำตาล เส้นโคนใบ ๑๑-๑๕ เส้น ด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูน เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได ก้านใบยาว ๓-๔ ซม. มีขนสั้นนุ่ม หูใบขนาดเล็ก ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ก้านและแกนช่อมีขนสีเทาคล้ายกำมะหยี่ ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ยาว ๓-๕ มม.ดอกตูมรูปกระบอง ยาว ๓-๔ ซม. มีสันตามยาว ๕ สัน มีขนสีเทาคล้ายกำมะหยี่ ฐานดอกเป็นหลอดยาวกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปแถบหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๔-๑ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. กลีบโค้งพับลง ปลายแหลมบางกลีบโคนเชื่อมติดกัน เมื่อดอกบานจะปริออกเป็น ๒-๕ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ สีแดง ขอบกลีบสีเหลืองรูปช้อน กว้าง ๐.๔-๑.๕ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. โคนกลีบสอบเรียวคล้ายก้าน ยาวกว่าแผ่นกลีบ ด้านนอกมีขนกลีบในสุดมีขนาดใหญ่และมีแต้มสีเหลืองตรงกลางเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณู ยาว ๓-๔.๕ ซม. เกลี้ยง อับเรณูรูปแถบ ยาว ๑-๑.๒ ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๒ เกสร มีขนาดเล็ก รูปลิ่มแคบก้านรังไข่ยาว ๑-๒ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีเทาแนบชิด มี ๑ ช่อง ออวุล ๔-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวใกล้เคียงกับก้านรังไข่และมีขนสั้นนุ่มสีเทาแนบชิด ยอดเกสรเพศเมียเห็นไม่ชัด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบนรูปแถบ ปลายกว้างและเรียวแหลมเป็นจะงอย รอยเชื่อมด้านหลังหนานูน มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๑-๑.๕ ซม. มี ๔-๖ เมล็ด

 ชงโคชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามชายป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชงโค ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bauhinia pottsii G. Don var. velutina (Wall. ex Benth.) K. Larsen et S. S. Larsen
ชื่อสกุล
Bauhinia
คำระบุชนิด
pottsii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Don, George
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. velutina
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Wall. ex Benth.) K. Larsen et S. S. Larsen
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1798-1856)
ชื่ออื่น ๆ
ตุ้ยควาย (ระนอง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายปิยชาติ ไตรสารศรี