คราม ๑

Strobilanthes cusia (Nees) Kuntze

ชื่ออื่น ๆ
ครามย้อม (กรุงเทพฯ); ครามหลอย (ชาน-แม่ฮ่องสอน); คาม (เหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ); ฮ่อม (เหนือ); ฮ่อมเ
ไม้พุ่ม ต้นและเหง้ารูปทรงกระบอก บริเวณข้อโป่งพอง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ ดอกสีม่วงแดงแกมชมพูหรือสีขาว ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายกระบอง เมล็ดแบน ทรงรูปไข่ สีน้ำตาล

ครามชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรงหรือทอดชูยอด สูงได้ถึง ๑ ม. ต้นและเหง้ารูปทรงกระบอก บริเวณข้อโป่งพอง ส่วนยอดอ่อนและช่อดอกมีขนเกล็ดสีสนิม

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๙ ซม. ยาว ๕-๒๐(-๒๕) ซม. ปลายเรียวแหลมโคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยละเอียดหรือหยาบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เมื่อแห้งสีแดงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๘ เส้น ก้านใบยาว ๑.๕-๒ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามซอกใบ ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ใบประดับเรียงตรงข้าม ยาว ๑.๕-๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปแถบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกสีม่วงแดงแกมชมพูหรือสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอก คอหลอดดอกกว้าง ปลายหลอดรูประฆังแคบ โค้งงอเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดเท่ากัน แต่ละแฉกรูปหัวใจ เกสรเพศผู้ ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง อับเรณูปลายเป็นติ่งหนาม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมีขนบริเวณครึ่งบน มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาวไม่เท่ากัน

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายกระบอง ยาว ๒-๒.๒ ซม. เกลี้ยง มีสัน ๔ สัน เมล็ดแบน ทรงรูปไข่ สีน้ำตาล ยาว ๓.๕ มม.

 ครามชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคเหนือ พบบริเวณที่ชื้นใกล้ลำธารที่มีอากาศเย็นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๘๐๐ ม. ชึ้นไป ในต่างประเทศพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของอินเดีย บังกลาเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และญี่ปุ่น

 ประโยชน์ ในหลายประเทศใช้ทำสีย้อมผ้าล้านนาใช่เป็นสมุนไพร ใบต้มน้ำดื่มแก้ไข้

 แพทย์พื้นบ้านไทยใช้รากและใบต้มน้ำดื่มแก้ไข้ปวดศีรษะเนื่องจากหวัด แก้เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ตาอักเสบ

 แพทย์จีนทดลองให้คนไข้โรคเอดส์ที่เป็นงูสวัด ดื่มน้ำต้มใบแห้งผสมกับพืชอื่นอีก ๓ ชนิด คือ Coptis chinensis Franch., Amebia euchroma (Royle) I. M. Johnst. และ Paeonia moutan Sims พบว่าแผลหายภายใน ๒ สัปดาห์

 แพทย์ญี่ปุ่นในเกาะโอกินาวา ใช้ใบต้มน้ำสำหรับ รักษาโรคกลากเนื่องจากมีสาร tryptanthrin สามารถฆ่าเชื่อรา ๒ ชนิด คือ Trichophyton rubrum และ Trichophyton mentagrophytes.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คราม ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Strobilanthes cusia (Nees) Kuntze
ชื่อสกุล
Strobilanthes
คำระบุชนิด
cusia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Nees von Esenbeck, Christian Gottfried Daniel
- Kuntze, Carl Ernst Otto
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Nees von Esenbeck, Christian Gottfried Daniel (1776-1858)
- Kuntze, Carl Ernst Otto (1843-1907)
ชื่ออื่น ๆ
ครามย้อม (กรุงเทพฯ); ครามหลอย (ชาน-แม่ฮ่องสอน); คาม (เหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ); ฮ่อม (เหนือ); ฮ่อมเ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล