ไม้ต้นผลัดใบ เปลือกสีเทาอมน้ำตาล ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน ใบประกอบชั้นที่ ๒ มีช่อแขนง ข้างละ ๑ ช่อ เรียงตรงข้าม แต่ละช่อแขนงมีใบย่อย ๘-๑๐ ใบ เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน เกลี้ยงถึงมีขนประปราย หูใบรูปเส้นด้าย มีต่อมรูปคล้ายจานที่รอยต่อก้านช่อแขนงและระหว่างก้านใบย่อย ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยวหรือหลายช่อตามซอกใบ ดอกสีเหลืองอ่อนถึงสีขาว อับเรณูมีต่อม ผล แบบผลแห้งแตกสองแนว รูปคล้ายเคียวกว้าง เมล็ดรูปรี แบน
แดงชนิดนี้เป็นไม้ต้นผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๐ ม. เปลือกสีเทาอมน้ำตาล แตกสะเก็ดล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ น้ำยางสีแดง
ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน ใบ ประกอบชั้นที่ ๒ มีช่อแขนงข้างละ ๑ ช่อ เรียงตรงข้าม ยาว ๑๐-๓๐ ซม. แต่ละช่อแขนงมีใบย่อย ๘-๑๐ ใบ เรียง ตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๓-๗.๕ ซม. ยาว ๓.๘-๗.๖ ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งหนาม โคนรูปลิ่มหรือมนกลม เบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้าย กระดาษ เกลี้ยงถึงมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบประกอบชั้นที่ ๑ ยาว ๑.๕-๗.๕ ซม. มีขนประปรายถึงหนาแน่น ก้านใบ ประกอบชั้นที่ ๒ ยาว ๐.๕-๓ ซม. มีต่อมที่รอยต่อก้านช่อ แขนงรูปคล้ายจาน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๓ มม. แกน กลางใบประกอบชั้นที่ ๒ ยาว ๓.๕-๑๗ ซม. มีต่อม ระหว่างก้านใบย่อยรูปคล้ายจาน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. ก้านใบย่อยยาว ๒-๓ มม. หูใบรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ ๓ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยวหรือหลาย ช่อตามซอกใบ ช่อกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. แต่ละช่อประกอบด้วยดอกที่ไม่มีก้านจำนวนมาก ก้านช่อดอกยาว ๓.๘-๕ ซม. ใบประดับรูปช้อน ยาว ๒-๓ มม. ดอกสีเหลืองอ่อนถึงสีขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อม ติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาว ๓-๓.๕ มม. ด้านนอกมี ขนนุ่มหนาแน่น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูป ไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ แยกเป็นอิสระ รูปขอบขนานแคบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒.๕-๔.๖ มม. ด้านนอกมีขนประปรายถึงมี ขนนุ่มหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร แยกเป็นอิสระ ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง อับเรณูติดด้านหลัง มีต่อม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่แกมรูปรี มีขนปกคลุม ทั่วไป มี ๑ ช่อง มีออวุล ๗-๑๐ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศ เมียยาว ๑-๑.๕ มม. มีขนหนาแน่น ยอดเกสรเพศเมีย เล็กมาก
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปคล้ายเคียวกว้าง กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๗.๖-๑๐ ซม. แตกจากปลายลงสู่โคน เปลือกผลแข็งเหมือนไม้ เมล็ดรูปรี แบน กว้างประมาณ ๗ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม.
แดงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคเหนือ พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และ ป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๘๕๐ ม. ออกดอกพร้อมใบอ่อนเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ผลแก่ เดือนตุลาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดียและ เมียนมา
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้สร้างบ้าน ทำไม้หมอนรถไฟ ทำสะพาน ทำเรือ เสาเข็มในทะเล เฟอร์นิเจอร์ งานกลึง และเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้าน.