เครือพัดห้าเป็นไม้เถา ยาว ๒-๒๐ ม. กิ่งก้านรูปทรงกระบอก มีสันตามยาวกิ่งอ่อนมักมีสีแดง มีมือพันปลายแยกเป็น ๒-๓ แฉก ออกตรงข้ามกับใบ
ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงเวียน มีใบย่อย ๕ ใบ คล้ายตีนเป็ด ก้านใบยาว ๑.๕-๑๐ ซม. ทั้งใบย่อยใบกลางและใบย่อยด้านข้างมีเส้นแขนงใบข้างละ ๕-๙ เส้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ใบย่อยใบกลางรูปรีหรือรูปใบหอกแกมรูปรี กว้าง ๑.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๑๔.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบหยักซี่ฟันใบย่อยด้านข้างรูปรีแกมรูปแถบหรือรูปไข่ กว้าง ๐.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๑-๗ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนรูปลิ่มเบี้ยวหรือมนกว้าง ขอบหยักซี่ฟัน แต่ละด้านมี ๖-๑๕ หยัก แผ่นใบด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม ก้านใบย่อยใบกลางยาว ๐.๕-๒.๕ ซม. ก้านใบย่อยด้านข้างยาว ๐.๕-๑.๕ ซม.หรือไร้ก้าน หูใบร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบ ออกที่ซอกใบ ก้านช่อดอกยาว ๑-๑๓ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๒ มม. ดอกเล็ก สีขาวอมเขียวถึงสีเหลือง ดอกตูมรูปไข่ ยาว ๑-๒ มม. ปลายมน กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เล็กมากโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยแคบ ผิวเป็นตุ่มเล็ก ๆ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. ผิวเป็นตุ่มเล็ก ๆ เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดตรงกับกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นอับเรณูรูปไข่ แตกตามยาว จานฐานดอกเป็นลอน ๔ ลอนหรือเป็นคลื่น เชื่อมติดกับโคนรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. สีขาวหรือสีม่วงถึง สีดำ มี ๒-๔ เมล็ด เมล็ดรูปไข่กลับแกมรูปสามเหลี่ยมมีสัน ปลายเว้าบุ๋ม
เครือพัดห้ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นในหุบเขา ป่ารุ่น ทุ่งหญ้า และทุ่งนา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐-๒,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน พม่า จีน เกาหลี ญื่ป่น ลาว เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย.