ชายผ้าสีดาชนิดนี่เป็นเฟิร์นอิงอาศัยขนาดใหญ่ ลำต้นสั้น เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๑ ซม. มีเกล็ดหนาแน่น รูปแถบถึงรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๔.๕ มม. ยาว ๑.๕-๓ ซม. ปลายเรียวโค้ง สีน้ำตาลอ่อน บริเวณกลางเกล็ดสีน้ำตาลคล้ำ ขอบฐานของเกล็ดมีขนสั้น ๆ ยาวประมาณ ๑ มม.
ใบทวิสัณฐาน ประกอบด้วยใบประกบต้นที่ไม่สร้างกลุ่มอับสปอร์ รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาวประมาณ ๔๐ ซม. สีเขียว แผ่นใบอวบน้ำหรือเหนียว และหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนรูปดาวสีเทาหนาแน่นโดยเฉพาะใบอ่อน ใบประกบต้นอยู่ในแนวตั้งทำให้สามารถรองรับน้ำฝนและใบไม้แห้งที่ตกลงมาซึ่งจะกลายเป็นปุ๋ย ไม่มีก้านใบ โคนใบชนิดนี่หน้ามาก เบี้ยวและหยักเว้าคล้ายรูปหัวใจ มีสีเขียวอยู่ระยะหนึ่งต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้ง เรียงซ้อนกันและโอบติดอยู่กับต้นไม้ที่เกาะอยู่ แผ่นใบเว้าลึกเข้ามาเกือบถึงกึ่งกลางใบ ทำให้เห็นแฉกใบเป็นคู่ ๆ แฉก รูปขอบขนาน ขอบเรียบ ปลายกลมมนหรือป้าน ไม่มีเส้นกลางใบที่ชัดเจน เส้นใบเห็นชัด เป็นสันนูนทั้ง ๒ ด้านของแผ่นใบ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห มีเส้นใบย่อยปลายเป็นอิสระในช่องร่างแห ใบที่สร้างกลุ่มอับสปอร์มีขนาดใหญ่ อาจยาวได้มากกว่า ๕๐ ซม. เจริญห้อยลง ขอบใบเว้าลึกเป็นคู่ ๆ หลายครั้งเกือบถึงโคน ทำให้เห็นแฉกใบดูเหมือนชายผ้าที่ขาดรุ่งริ่งหรือคล้ายเขากวาง จำนวนแฉกมากกว่าใบประกบต้น เส้นใบมีลักษณะคล้ายเส้นใบของใบประกบต้น
กลุ่มอับสปอร์เกิดต่อเนื่องติดกันเป็นพืดระหว่างแฉกใบคู่แรก ๆ อาจแผ่ออกเป็นรูปครึ่งวงกลมมีขนรูปดาว และอับสปอร์ที่เป็นหมันเกิดปะปนหนาแน่น ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์ อับสปอร์สร้างสปอร์แบบเดียว
ชายผ้าสีดาชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค แต่พบมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามต้นไม้ในป่าดิบแล้งหรือป่าผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย
ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป.