ตาลมังกรชนิดนี้เป็นเฟิร์นอิงอาศัย มีลำต้นยาวอวบหนา เกาะเลื้อยไปตามกิ่งไม้ สีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. มีกิ่งที่แตกแขนงสั้นเป็นช่วงต่อโคนก้านใบ รูปคล้ายกรวย สูงประมาณ ๕ มม. ลำต้นภายในกลวง มักเป็นที่อยู่ของมด (พืชสมชีพมด) มีรากยึดเกาะสั้น ๆ มีเกล็ดแบบก้นปิดหนาแน่น เกล็ดรูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. บริเวณกลางเกล็ดสีน้ำตาลดำขอบสีขาว
ใบเดี่ยว เรียงสลับ ๒ แถว แต่ละใบห่างกัน ๑.๕-๒ ซม. รูปใบหอกหรือรูปแถบ แผ่นใบเหนียวและหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงเป็นมัน สีเขียว ปลายมนหรือป้าน
กลุ่มอับสปอร์รูปกลมหรือรูปขอบขนานเกือบกลม อยู่ทางด้านล่างของแผ่นใบและฝังอยู่ในแผ่นใบเห็นเป็นรอยนูนเด่นชัดทางด้านบน เรียงตัวเป็นแถว ๒ ข้างของเส้นกลางใบ อยู่ชิดและขนานไปกับเส้นขอบใบเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓.๕ มม. ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์
ตาลมังกรชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบเกาะอาศัยบนไม้ต้นในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าพรุ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๓๐๐-๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา เวียดนาม คาบสมุทรมลายู สุมาตรา และหมู่เกาะโซโลมอน.