เครือปลาสงแดงเป็นไม้เถา ทุกส่วนมียางสีขาวและมีขนสีน้ำตาลแดง เถาเรียวยาว แยกแขนงมาก
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปไข่แกมรูปรีกว้าง ๑.๕-๕ ซม. ยาว ๔.๕-๑๒ ซม. ปลายแหลม โคนมนขอบเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีขนนุ่มหนาแน่นกว่าด้านบนเส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น ก้านใบยาว ๓-๗ ซม.
ช่อดอกแบบช่อเชิงประกอบ ออกที่ยอดและตามซอกใบ แยกแขนง ๒-๓ ครั้ง ทั้งช่อยาว ๑๐-๓๐ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุก เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๗ มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ด้านนอกมีขนสั้น โคนด้านในมีต่อมลักษณะคล้ายเกล็ด ๕ ต่อม ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓ มม. กลางหลอดป่องเล็กน้อยปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๓(-๕) มม. ปลายบิด ขอบเป็นคลื่น ด้านบนมีขนยาวสีขาว เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอกตรงบริเวณที่ป่อง ก้านชูอับเรณูสั้นอับเรณูรูปหัวลูกศร เกาะอยู่รอบยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน และสั้นยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม ปลายเรียวแหลม
ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกระบอก ปลายเรียวแหลม กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๗-๑๕ ซม. เมล็ดมีจำนวนมาก รูปทรงกระบอกคล้ายไส้ดินสอ ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว ยาวได้ถึง ๓ ซม.
เครือปลาสงแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นตามป่าละเมาะและที่รกร้างทั่วไป ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๘๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย (รัฐอัสสัม) ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลีย.