ตำแยบ้าแดดเป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้น สูง ๒-๑๒ ม. แตกกิ่งโปร่ง เปลือกสีเทาหรือสีน้ำตาลอมเทา กิ่งอ่อนมีขน
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานถึงรูปใบหอกกลับ กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๗-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มกว้างหรือมน ขอบเรียบ ช่วงปลาย ๑ ใน ๓ ของความยาวใบขอบหยักซี่ฟันถี่หรือจักฟันเลื่อยถี่ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวอมเทาอ่อน เกลี้ยง ด้านล่างมีขน โดยเฉพาะตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห มีผลึกหินปูนเป็นจุดขนาดเล็ก เห็นชัดทางด้านบนของแผ่นใบ ก้านใบยาว ๑-๕ ซม. หูใบรูปแถบถึงรูปใบหอก ยาว ๐.๖-๑.๓ ซม. มีขนประปราย ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกค่อนข้างแน่น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. ออกเดี่ยวหรือเป็นแบบช่อแยกแขนงแบบแยกเป็นคู่ ๒-๓ ครั้ง แต่ละช่อดอกยาว ๑-๒ ซม. ก้านช่อดอกสั้น ช่อดอกออกตามซอกใบที่ร่วงหรือตามกิ่งแก่ ใบประดับมีขนาดเล็ก ดอกเพศผู้มีก้านดอกหรือเกือบไร้ก้าน กลีบรวมสีขาวอมเขียวอ่อน โคนเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนาน เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูงอเข้าด้านใน อับเรณูขนาดเล็กมาก สีขาว มีรังไข่ที่เป็นหมันรูปคล้ายกระบอง ดอกเพศเมียมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันจนถึงรังไข่ คล้ายรูปถ้วย ปลายหยักซี่ฟันขนาดเล็ก ๓-๔ หยัก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไร้ก้าน ยอดเกสรเพศเมียรูปคล้ายจาน อาจมีขนตามขอบ
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน คล้ายรูปกรวย กว้างและยาวประมาณ ๑.๒ มม. เรียบ สีขาวอมชมพู มีส่วนของกลีบรวมรูปถ้วยฉ่ำน้ำ ขยายใหญ่ และติดทน หุ้มโคนผล เมล็ดมีขนาดเกือบเท่าผล
ตำแยบ้าแดดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามชายป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๖๐๐-๑,๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา จีน เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.