จำลาเป็นไม้ต้น สูง ๒๕-๕๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ม. เปลือกหนา สีน้ำตาลปนเทา เรียบมีช่องอากาศเป็นขีดยาว มีกลิ่นฉุน แตกกิ่งในระดับสูงทรงพุ่มกลม โปร่ง กิ่งอ่อนเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๕.๕ ซม. ยาว ๗-๒๐ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาและเหนียว สีเขียวเข้มเป็นมันทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๕ เส้น ปลายเส้นเชื่อมกันห่างจากขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑.๕-๓ ซม. โคนก้านป่อง เกลี้ยง หูใบหุ้มยอดอ่อนแต่ไม่เชื่อมติดกับก้านใบ ร่วงง่าย ไม่มีรอยแผลของหูใบบนก้านใบ
ดอกเดี่ยว ออกตามยอด กลิ่นหอมแรง มีกาบหุ้มดอก ๑-๓ กาบ เกลี้ยง ก้านดอกยาว ๐.๕-๒ ซม. เกลี้ยง มี ๓ ข้อ กลีบรวม ๙ กลีบ สีขาวหรือสีขาวนวลลักษณะคล้ายกัน เรียงเป็น ๓ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบชั้นนอกค่อนข้างบาง รูปไข่กลับถึงรูปช้อนเรียวแคบกว้าง ๑-๑.๒ ซม. ยาว ๔-๕.๕ ซม. ด้านนอกสีเขียวนวลกลีบชั้นในอวบหนา เรียวแคบและสั้นกว่ากลีบชั้นนอกเล็กน้อย เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาว ๐.๗-๒ ซม. ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๓ มม. อับเรณูหันเข้าด้านใน เรียงเป็นวงล้อมรอบโคนแกนฐานดอกรูปทรงกระบอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒-๔ รังไข่ แยกจากกันเป็นอิสระ เรียงเวียนบนแกนฐานดอกเป็นรูปไข่กลับ สีเหลืองอ่อน ยาว ๔-๗ มม. แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๔-๘ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นสันโค้ง
ผลแบบผลกลุ่ม เปลือกหนา เชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกลมค่อนข้างรี กว้างและยาว ๓.๕-๖ ซม. ก้านช่อผลยาว ๑-๒.๕ ซม. มีช่องอากาศนูนเด่นสีขาว เมื่อแก่แตกตามยาวเป็น ๒-๔ พู เมล็ดรูปคล้ายผล กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๐.๘-๑.๔ ซม. แต่ละพูมี ๔-๘ เมล็ด
จำลาเป็นพรรณไม้หายาก มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามริมลำธารในป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๔๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงมีนาคม ผลแก่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.