กล้วยตานี

Musa balbisiana Colla

ชื่ออื่น ๆ
กล้วยงู (พิจิตร); กล้วยชะนีใน, กล้วยตานีใน, กล้วยป่า, กล้วยเมล็ด (สุรินทร์); กล้วยพองลา (ใต้)
-

กล้วยตานีมีลำต้นเทียมสูง ๓.๕-๔ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒๐ ซม. สีเขียว ไม่มีปื้นดำ กาบลำต้น ด้านในสีเขียว ก้านใบสีเขียว เส้นกลางใบสีเขียวไม่มีร่อง ก้านช่อดอกสีเขียว ไม่มีขน ใบประดับรูปค่อนข้างป้อม กว้างมากปลายมน ด้านบนสีแดงอมม่วง มีนวล ด้านล่างสีแดงเข้มสดใส เมื่อใบประดับกางขึ้นจะตั้งฉากกับช่อดอกและไม่ม้วนงอ ใบประดับแต่ละใบซ้อนกันลึก เครือหนึ่งมีประมาณ ๘ หวี หวีหนึ่งมี ๑๐-๑๔ ผล ผลป้อม ขนาดใหญ่ มีเหลี่ยมเห็นชัดเจนลักษณะคล้ายกล้วยหักมุกแต่ปลายผลทู่ ก้านผลยาว ผลสุกสีเหลือง เนื้อมีรสหวาน มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดใหญ่สีดำ ผนังหนา แข็ง

 กล้วยตานีขึ้นในป่าดิบ นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานมาแล้ว ในต่างประเทศพบที่ศรีลังกา อินเดีย พม่า จีนตอนใต้และภูมิภาคมาเลเซีย

 ผลอ่อนที่เมล็ดยังไม่แข็งนำมาปรุงอาหาร ใบกล้วยตานี ใช้ทำงานฝีมือต่าง ๆ เช่น บายศรี กระทง และใช้ห่อของ ทั้งนี้เพราะใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเป็นมันและเหนียว ไม่ค่อยแตก เช่นใบกล้วยชนิดอื่น เหมาะในการนำมาเย็บให้มีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ หัวปลีนำมาปรุงอาหารได้ กล้วยตานีมีเมล็ดมากจึงไม่นิยมกินผล ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ ไม่นิยมขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ดเพราะโตช้ากว่า ในประเทศไทยปลูกกล้วยตานีเป็นการค้าที่จังหวัดสุโขทัยเพื่อตัดใบขายโดยเฉพาะ

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กล้วยตานี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Musa balbisiana Colla
ชื่อสกุล
Musa
คำระบุชนิด
balbisiana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Colla, Luigi (Aloysius)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1766-1848)
ชื่ออื่น ๆ
กล้วยงู (พิจิตร); กล้วยชะนีใน, กล้วยตานีใน, กล้วยป่า, กล้วยเมล็ด (สุรินทร์); กล้วยพองลา (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
-