เครือปลอก

Ventilago harmandiana Pierre

ชื่ออื่น ๆ
กระปรอกช้าง, ตานขโมย (ปราจีนบุรี); คนทีดำ (ตรัง); พญางิ้วดำ (พังงา, ภูเก็ต)
ไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่ รูปไข่กลับ หรือรูปแถบแกมรูปขอบขนาน เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจะแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่งดอกเล็กมาก สีขาวอมเหลืองหรือสีขาวอมเขียวผลแบบผลปีกเดียว รูปค่อนข้างกลม เปลือกแข็งปีกรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน เมล็ดเล็ก รูปค่อนข้างกลม

เครือปลอกเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่ รูปไข่กลับ หรือรูปแถบแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายแหลมหรือมน มักมีติ่ง โคนสอบแคบหรือมน มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนาและค่อนข้างเกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๒-๔ มม. หูใบเล็กมาก

 ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อกระจะแยกแขนงออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ดอกเล็ก สีขาวอมเหลืองหรือสีขาวอมเขียว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ มม. มักอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ตามแกนช่อ กลุ่มละ ๖-๑๐ ดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๑.๕ มม. กลีบเลี้ยงเล็กมาก โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๐.๗ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดเล็กมาก รูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๐.๗ มม. ปลายเว้าตื้นหรือรูปหัวใจ โคนสอบเรียวคล้ายเป็นก้านเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๐.๕ มม. อับเรณูรูปไข่ เล็กมาก จานฐานดอกมีขอบหยักตื้น ๕ หยัก รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเล็ก

 ผลแบบผลปีกเดียว รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. เปลือกแข็ง ปีกรูปไข่กลับแกม รูปขอบขนานกว้างประมาณ ๖ มม. ยาว ๑.๔-๑.๘ ซม. กลีบเลี้ยงเจริญหุ้มผลประมาณครึ่งผล เมล็ดเล็กรูปค่อนข้างกลม

 เครือปลอกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามริมแหล่งฟ้าในป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับฟ้าทะเลถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เครือปลอก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ventilago harmandiana Pierre
ชื่อสกุล
Ventilago
คำระบุชนิด
harmandiana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1833-1905)
ชื่ออื่น ๆ
กระปรอกช้าง, ตานขโมย (ปราจีนบุรี); คนทีดำ (ตรัง); พญางิ้วดำ (พังงา, ภูเก็ต)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์