จำปูนิงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๕ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มแคบคล้ายทรงกระบอก กิ่งค่อนข้างเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๖-๘.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๑๖.๓ ซม. ปลายมนถึงเป็นติ่งแหลม โคนรูปลิ่มถึงสอบเรียว พบน้อยที่โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นเส้นกลางใบมีขน ด้านล่างเกลี้ยงถึงมีขนหนาแน่นและมีต่อมคล้ายจานตามขอบใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๘ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๐.๗-๓.๕ ซม. หูใบคล้ายรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๗-๑.๕ มม. ยาว ๑-๔ มม. ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ดอกสมมาตรตามรัศมี ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก กลีบเลี้ยงเรียงซ้อนเหลื่อมช่อดอกเพศผู้ออกตามซอกใบ ซอกละ ๑-๓ ช่อ ยาวได้ถึง ๕ ซม. มักแยกแขนง ใบประดับยาวประมาณ ๔.๕ มม. ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกที่ปลายแขนงย่อย สีเหลืองแกมเขียวถึงสีเหลือง บางครั้งเป็นสีชมพู มีใบประดับย่อย มักมี ๓ ดอก ต่อ ๑ ใบประดับย่อย เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๐.๘-๒ มม. ไร้ก้านดอก กลีบเลี้ยงมี ๔ กลีบ พบน้อยที่มี ๕ กลีบ รูปร่างไม่เหมือนกัน กว้างและยาว ๐.๓-๑ มม. เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๔ เกสร พบน้อยที่มี ๕ เกสร ยาว ๐.๒-๑ มม. เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๓-๘ เกสร ช่อดอกเพศเมียออกตามต้นหรือกิ่งที่ใบหลุดร่วงไปแล้ว กระจุกละ ๑-๔ ช่อ แต่ละช่อยาวได้ถึง ๒๘ ซม. ดอกสีเขียว เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๓-๘ มม. ก้านดอกยาว ๒-๒.๕ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปไข่ถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๒.๒ มม. ยาว ๒.๒-๔.๕ มม. บางครั้งพบเกสรเพศผู้เป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวได้ถึง ๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๘-๑.๔ มม. ปลายแยกเป็นแฉก
ผลแบบผลมีเนื้อแก่แล้วแตก สีส้ม รูปค่อนข้างกลม กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๐.๘-๑.๔ ซม. แตกทั้งตาม
จำปูนิงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ตอนล่าง พบขึ้นตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคม เป็นผลเดือนกันยายน ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.