เครือนำแน่

Gongronema filipes Kerr

ไม้เถา ทุกส่วนมียางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปใบหอก โคนใบมีต่อมหลายต่อมช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ดอกสีเขียวแกมม่วงผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงรี เมล็ดรูปคล้ายหัวใจ แบน ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีนวล

เครือนำแน่เป็นไม้เถา สีเขียวเข้ม ปล้องยาว ๑๐-๒๐ ซม. ทุกส่วนมียางสีขาว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๕-๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษแต่เหนียว ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอมขาว เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ปลายเส้นโค้งไปจรดกับเส้นถัดไป ด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างเป็นสันคมบริเวณโคนใบด้านบนมีต่อมรูปหยดนํ้า ๗-๘(-๑๕) ต่อมก้านใบเรียวเล็ก ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ ก้านช่อยาว ๑-๔ ซม. แต่ละช่อมี ๑๐-๒๐ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๓-๑ ซม. ดอกสีเขียวแกมม่วง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. ขอบมีขนสั้น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคล้ายโถ ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกหนา รูปแถบ ปลายสอบ ยาวประมาณ ๔ มม. ด้านในสีเขียวอมเหลือง เส้าเกสรรูปคล้ายกรวย ประกอบด้วยรยางค์ ๕ อันรูปใบหอก เชื่อมกับเกสรเพศผู้เรียงต่อกันเป็นวงล้อมรอบเกสรเพศเมียโคนรยางค์หนา กางออกและโค้งขึ้นปลายบาง และมนโค้งจรดกันคลุมยอดเกสรเพศเมีย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร กลุ่มเรณูอยู่เป็นคู่ รูปกลมรี เรียงตัวในแนวตั้งหรือโค้งเข้าหากัน ก้านกลุ่มเรณูติดในแนวตั้งฉากกับปุ่มยึดสีนํ้าตาลเข้ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ คู่ แต่ละรังไข่ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นเชื่อมติดกัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มรูปรี

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงรี กว้าง ๑-๑.๒ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. เมล็ดรูปคล้ายหัวใจ แบนปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีนวล

 เครือนำแน่เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑,๓๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เครือนำแน่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gongronema filipes Kerr
ชื่อสกุล
Gongronema
คำระบุชนิด
filipes
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kerr, Arthur Francis George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1877-1942)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง