ตำแยซี่ฟันแหลมเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูงได้ถึง ๑ ม. ลำต้นตรง คล้ายทรงกระบอก แตกกิ่ง มีร่องตามยาว มีขนสั้นนุ่ม
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือรูปลิ่ม บางครั้งมีรยางค์ ๒ รยางค์ ร่วงง่าย ขอบจักฟันเลื่อยแกมหยักมนถี่ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ก้านใบคล้ายทรงกระบอก ยาว ๒-๘ ซม. มีขนสั้นนุ่ม หูใบรูปแถบ ยาว ๑.๕-๓.๕ มม. มีขนสั้นนุ่ม
ดอกแยกเพศร่วมช่อ ออกเป็นช่อเดี่ยวตามซอกใบ ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ยาว ๒-๖ ซม. ดอกสีเขียวอ่อน ก้านดอกสั้นมาก ไร้กลีบดอก ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุกที่ปลายช่อ แต่ละข้อมี ๔-๗ ดอก ใบประดับรูปขอบขนานแกมรูปไข่หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาว ๐.๖-๑ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ดอกตูมรูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๓-๐.๗ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ด้านนอกมีต่อม เกสรเพศผู้ ๘ เกสร ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ในแต่ละข้อที่โคนช่อ ใบประดับรูปถ้วย เมื่อกางออกเป็นรูปไต กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๒-๔ มม. ขอบจักฟันเลื่อยละเอียด ๑๐-๑๔ จัก ด้านนอกมีขน
ผลแบบผลแห้งแยกแล้วแตก รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๒-๒.๘ มม. ยาว ๑.๘-๒.๒ มม. มีขนสาก
ตำแยซี่ฟันแหลมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค เป็นวัชพืชทั่วไป ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่แอฟริกาเขตร้อน อินเดีย ศรีลังกา จีน ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย หมู่เกาะโซโลมอน ฟิจิ และโพลีนิเชีย
ประโยชน์ ใช้เป็นพืชสมุนไพร.