ชาพ่อตาฤๅษีเป็นไม้ล้มลุกหลายปีหรือไม้กึ่งพุ่ม อาจแตกกิ่ง ๒-๖ กิ่ง สูง ๑๐-๓๕ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางกิ่งและลำต้นประมาณ ๔ มม. เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา ส่วนโคนค่อนข้างแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ ปลายกิ่งค่อนข้างเรียวยาว
ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรือเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบใกล้ยอดมี ๓-๗ คู่ เรียงถี่ รูปไข่กลับ รูปใบหอกกลับ รูปไข่ หรือรูปรี กว้าง ๒.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๔-๑๐.๕ ซม. ปลายแหลม โคนเบี้ยว รูปลิ่มหรือมนกลมขอบหยักซี่ฟันหรือหยักมน แผ่นใบบางคล้ายกระดาษมีรอยย่น ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นและมีขุยเส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบเรียว ยาว ๑.๕-๗ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ มี ๑-๒ ช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอดหรือที่ปลายยอด แตกแขนง ๒-๔ ชั้น ก้านช่อดอกเล็กเรียว ยาว ๑-๔ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ มม. มีขุย ก้านดอกเล็กเรียว ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีขุย ใบประดับลดรูป หรือมีรูปแถบ กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาว ๑-๓.๕ มม.ปลายแหลม ใบประดับที่อยู่ใกล้ปลายช่อมีขนาดเล็กลงอย่างชัดเจน กลีบเลี้ยงสีเขียวอมน้ำตาล มีขุย โคนเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปแถบ ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายมน กลีบดอก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ผลแก่บิดเป็นเกลียวเกลี้ยงหรือมีขุย มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มโคนผล เมล็ดรูปคล้ายกระสวย ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
ชาพ่อตาฤๅษีเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามผาหินปูนในที่ร่มรำไร บริเวณป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม.