จำปูนชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๒-๓ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ ซม. เปลือกแตกเป็นร่อง สีน้ำตาลปนดำแตกกิ่งน้อย กิ่งยาวลู่ลง
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๑๔-๒๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาและเหนียว เกลี้ยง สีเขียวเข้มเป็นมันทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๔ เส้น เป็นร่องตื้นทางด้านบนและเป็นสันนูนทางด้านล่าง ปลายเส้นโค้งเชื่อมกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว ๖-๗ มม.
ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งหรือออกเหนือรอยแผลใบ กลิ่นหอม ก้านดอกยาว ๑.๕-๒ ซม. โคนก้านมีใบประดับขนาดเล็ก ๑ ใบ ปลายก้านอวบพอง กลีบเลี้ยงสีเขียวปนน้ำตาล มี ๓ กลีบ หนารูปไข่ กว้างและยาว ๔-๔.๕ มม. โคนกลีบเชื่อมติดกันเล็กน้อย กลีบดอกสีเขียว หนา เกลี้ยง เป็นมัน มี ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบชั้นนอกรูปใบหอกกว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. แผ่กางออกเมื่อดอกบาน กลีบชั้นในรูปไข่ กว้าง ๕-๖ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ขอบกลีบจดกันคล้ายรูปสามเหลี่ยม เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๘-๑๐ รังไข่ แยกจากกันเป็นอิสระ แต่ละรังไข่ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลกลุ่ม ก้านช่อผลยาวประมาณ ๑.๒ ซม. ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด มี ๔-๕ ผลก้านผลย่อยสั้นมาก ผลย่อยรูปทรงกลมหรือรูปทรงรีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. เปลือกเรียบเป็นมัน เมื่อแก่สีเขียวอมเหลือง สุกสีแดง เมล็ดสีดำ รูปคล้ายผลกว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. มี ๑ เมล็ด
จำปูนชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ตอนล่าง พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนกันยายนถึงตุลาคม.