ข้าวสารป่าเป็นไม้ต้น สูง ๒-๕ ม. เปลือกเรียบ สีเทา กิ่งมักแยกตรงข้าม กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม โป่งตามข้อและมีขนนุ่ม กิ่งแก่มีรอยแผลใบปรากฏอยู่
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กลับ รูปรี หรือรูปไข่ กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายมนหรือสอบ โคนสอบ แผ่นใบหนา ด้านบนมีขนสาก ด้านล่างมีขนนุ่มสีเทา เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. ด้านบนเป็นร่องและมีขนนุ่มประปราย หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๐.๕-๑ ซม. ปลายเป็นติ่งเรียวแหลม โคนเชื่อมติดกันเป็นปลอก ด้านนอกมีขนนุ่ม ด้านในเกลี้ยง หูใบจะร่วงไปเมื่อกิ่งแก่ ใบแห้งออกสีดำ
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง กว้างและยาวประมาณ ๑๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๓ ซม. ก้านช่อย่อยยาว ๐.๕-๑ ซม. ทุกส่วนมีขนสีเทานุ่ม โคนช่อดอกและช่อแขนงมีใบประดับคล้ายหูใบประกบอยู่ ดอกรูปแจกัน กลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนประปราย กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็นแฉกแหลมเล็ก ๆ ๔ แฉก แต่ละแฉกยาวไม่เกิน ๑ มม. ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ ๑ ซม. ภายในหลอดมีขน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. เกสรเพศผู้ ๔ อัน ติดบริเวณปากหลอดดอกด้านในและสลับกับแฉก อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๔ มม. แก่จัดแตกตามรอยประสานด้านข้างพร้อมกับบิดเป็นเกลียว รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ กลม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอกออกมา ๑.๕-๒ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกไม่เท่ากัน ๒ แฉก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. ผลแห้งออกสีดำ มี ๒ เมล็ด
ข้าวสารป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๗๐๐-๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ศรีลังกา อินเดีย กัมพูชา และมาเลเซีย.