กล้วยป่า

Musa gracilis Holttum

ชื่ออื่น ๆ
ปีซังกะแต, ปีซังเวก, ปีซังโอนิก (มลายู)
-

กล้วยชนิดนี้ลำต้นเทียมสูง ๐.๖-๒ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางโคนต้นประมาณ ๘ ซม. กาบใบมีปื้นสีม่วง

 ใบกว้าง ๒๕-๓๕ ซม. ยาว ๐.๕-๑.๕ ม. สีเขียวมีนวล ก้านใบยาว ๓๐-๗๐ ซม.

 ช่อดอกตั้ง ยาวประมาณ ๖๐ ซม. ก้านช่อดอกมีขนสั้นหนาแน่น ดอกเพศเมียสีขาวหมื่นปลายสีเขียว ยาว ๒.๕-๔ ซม. เรียงชิดกัน ๓-๘ แถว แถวหนึ่งมี ๒-๔ ดอก ใบประดับกว้างประมาณ ๔.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑๕ ซม. สีม่วงปลายสีเขียว อาจร่วงไปก่อนบ้าง ดอกเพศผู้สีเหลือง ยาวประมาณ ๔ ซม.

 ผลตรง สีเขียว ยาวประมาณ ๑๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๒.๕ ซม. เป็นเหลี่ยม ๒-๓ เหลี่ยม ปลายทู่มีนวลและมีทางสีม่วงตามยาวผล ก้านผลยาวประมาณ ๒ ซม. เมื่อยังอ่อนมีขนประปราย แก่แล้วเกลี้ยง

 กล้วยป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ในท้องที่จังหวัดยะลา และนราธิวาส ขึ้นในป่าดิบชื้นในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย ชาวมลายูเรียกว่า ปีซังกะแต ปีซังเวก และปีซังโอนิก

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กล้วยป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Musa gracilis Holttum
ชื่อสกุล
Musa
คำระบุชนิด
gracilis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Holttum, Richard Eric
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1895-1990)
ชื่ออื่น ๆ
ปีซังกะแต, ปีซังเวก, ปีซังโอนิก (มลายู)
ผู้เขียนคำอธิบาย
-