ตำแยช้างชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกปีเดียวถึงหลายปีกึ่งพุ่ม สูง ๐.๓-๒ ม. โคนต้นแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ ลำต้นมักแตกกิ่ง กิ่งเป็นสัน ๕ สัน ยกเว้นตามรอยแยกของกิ่ง ตามกิ่งและลำต้นมีขนแข็งเอนและขนพิษ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปคล้ายรูปไข่กว้าง รูปรี หรือรูปกลม กว้าง ๔-๒๓ ซม. ยาว ๕-๒๕ ซม. เว้าลึกแยกเป็น ๓-๗ แฉก ปลายสุดเรียวแหลม โคนรูปหัวใจหรือกึ่งตัด ขอบจักฟันเลื่อย อาจจักลึกสม่ำเสมอหรือจักฟันเลื่อยซ้อน แผ่นใบค่อนข้างบางคล้ายกระดาษ ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นจากโคนใบ ๓ เส้น เส้นด้านข้าง ๒ เส้นยาวเกือบถึงกลางแผ่นใบ ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นกลางใบยาวถึงปลายใบ มีเส้นแขนงใบจากเส้นกลางใบข้างละ ๓-๕ เส้น เส้นใบย่อยแตกแขนงเป็นร่างแหเชื่อมและจดกันใกล้ขอบใบ ด้านบนมีขนแข็งเอน มีขนพิษห่าง ๆ ด้านล่างมีขน ตามเส้นใบมักมีขนพิษคล้ายหนาม มีขนแข็งสั้น มีผลึกหินปูนเป็นจุดขนาดเล็กหรือเป็นจุดกลมที่มีกลุ่มขนพิษคล้ายหนาม ก้านใบยาว ๒-๑๕ ซม. มักมีสีแดง หูใบรูปขอบขนานหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๑.๕-๓ ซม. ปลายแหลม
ดอกแยกเพศต่างต้นหรือแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกเพศผู้คล้ายแบบช่อเชิงลด รูปทรงกระบอก อาจพบแบบช่อกระจะ ช่อย่อยแบบช่อกระจุกหรือกึ่งแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือซอกกิ่ง ยาว ๕-๑๑ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๓ ซม. ช่อดอกเพศเมียคล้ายแบบช่อกระจะ ช่อแยกแขนง หรือช่อกระจุกแน่น มักออกที่ปลายกิ่ง ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง หรือออกที่ซอกเดียวกับช่อดอกเพศผู้ พบน้อยที่คล้ายช่อเชิงลดหรือออกเป็นดอกเดี่ยว ช่อดอกยาว ๑-๒๘ ซม. มีขนหยาบแข็งและเอน ดอกเพศผู้มีก้านดอกหรือเกือบไร้ก้าน ดอกตูมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. กลีบรวมสีขาวอมเขียวอ่อน โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่คุ่ม ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายมน มีขนละเอียด เกสรเพศผู้มีจำนวนเท่ากับแฉกกลีบรวม ก้านชูอับเรณูคล้ายรูปแถบ ยาว ๑.๒-๑.๗ มม. ค่อนข้างใส อับเรณูสีขาว ยาวประมาณ ๐.๗ มม. มีรังไข่ที่เป็นหมันรูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปถ้วย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๓-๐.๕ มม. ดอกเพศเมียมีก้านดอกสั้น กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันและโป่งออกข้างเดียว ปลายแยกเป็น ๒-๔ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน แฉกบนมีขนาดใหญ่ รูปเรือ ยาวประมาณ ๐.๔ มม. ปลายสุดแยกเป็นแฉกสั้น ๓ แฉก แฉกข้างหุ้มส่วนของรังไข่ ด้านนอกมีขนแข็งสั้นและขนพิษ แฉกกลางรูปแถบ มีขนาดเล็กกว่าแฉกอื่น รังไข่คล้ายรูปไข่ แบน ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย สีขาว
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ค่อนข้างแบน รูปไข่กว้างหรือรูปคล้ายรูปหัวใจ กว้างและยาว ๑.๕-๓ มม. เรียบ สีน้ำตาลเข้มถึงสีน้ำตาลอมเทา มีกลีบรวมส่วนที่เป็น ๒ แฉกข้างติดทน ยาวประมาณ ๑ มม. เมล็ดมีขนาดและรูปคล้ายผล
ตำแยช้างชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคใต้ พบตามชายป่าดิบเขาหรือพื้นที่ร่มชื้นใกล้ภูเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่แอฟริกา มาดากัสการ์ อินเดีย เนปาล จีน ภูฏาน ศรีลังกา เมียนมา เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และติมอร์เลสเต
ตำแยช้างชนิดนี้เป็นพืชมีพิษ เมื่อสัมผัสทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังอย่างรุนแรง มีอาการปวดแสบปวดร้อน.