ตาเป็ดเขาเป็นไม้พุ่ม สูง ๑.๕-๒ ม. พบน้อยที่สูงได้ถึง ๖ ม. กิ่งแขนงเรียวเล็ก มักเป็นเหลี่ยม กิ่งอ่อนมีเกล็ดสีน้ำตาลรูปโล่ขนาดเล็กหนาแน่น กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานรูปใบหอกแกมรูปรี หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๑.๕-๓ ซม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๔ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ มักเป็นคลื่น ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีเกล็ดเล็ก ๆ เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงถี่และค่อนข้างขนาน ปลายเส้นโค้งจดกันเป็นเส้นขอบในเส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. ด้านบนเป็นร่องตื้น เมื่ออ่อนมักมีเกล็ดสีน้ำตาล ต่อมาค่อนข้างเกลี้ยง
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบกึ่งช่อซี่ร่มหรือช่อกระจุก ออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่งมี ๒-๑๒ ดอก ก้านช่อยาว ๑-๒.๕ ซม. ก้านดอกยาว ๔-๘ มม. ทั้งก้านช่อและก้านดอกมีเกล็ดหรือเกือบเกลี้ยงกลีบเลี้ยงยาว ๑-๑.๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยมกว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแหลมขอบมีขนสั้น กลีบดอกสีขาวหรือสีชมพูอ่อน ยาวประมาณ ๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แกมรูปรี กว้างประมาณ ๓ มม. ปลายมนหรือแหลม ผิวมีต่อมเล็กสีดำกระจายทั่วไปเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปไข่ ยาวประมาณ ๑.๒ มม. ด้านหลังมีต่อมเล็กสีดำ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมแป้นเล็กน้อย อาจพบบ้างที่เป็น ๕ พู เมื่อสุกสีค่อนข้างดำผิวมีต่อมจำนวนมากกระจายทั่วไป เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
ตาเป็ดเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบในป่าดิบ ป่าไผ่ และตามริมแหล่งน้ำที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๖๐๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่จีนและเวียดนาม.