จำปูนชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๔-๖ ม. เปลือกสีเทา กิ่งก้านเมื่อยังอ่อนสีเขียว
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๑๔-๒๑ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ เส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น
ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งตรงข้ามกับใบ มี ๑-๔ ดอก กลิ่นหอม มีใบประดับเล็กมาก ๒ ใบ ใบประดับใบหนึ่งโอบก้านไว้ ปลายมน ส่วนอีกใบหนึ่งอยู่ที่โคนกลีบเลี้ยง ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. โคนก้านเรียวและส่วนปลายที่ติดกับดอกจะหนาขึ้นกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ เรียงจดกันในดอกตูม รูปขอบขนานยาวประมาณ ๗ มม. เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย ขอบกลีบเป็นเยื่อบาง ๆ แนบกับกลีบดอก กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงชิดกันเป็น ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบมีเนื้อแน่นและหนา กลีบชั้นนอกรูปไข่ปลายแหลม กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๘-๒ ซม. ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้างด้านนอกสีเขียว ด้านในสีขาว กลีบชั้นในสีขาว รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. โคนกลีบโค้งเป็นตะขอ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาวประมาณ ๔ มม. เกสรรอบนอกรูปช้อนก้านชูอับเรณูสั้นมากและโค้งออก เกสรรอบในไม่สมบูรณ์ ยาวประมาณ ๖ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๘-๙ รังไข่ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด เป็นเหลี่ยม ก้านยอดเกสรเพศเมียขนาดไม่เท่ากัน ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวย
ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลแห้งแตกแนวเดียว มี ๔-๙ ผล ผลย่อยรูปกระบอง ยาวประมาณ ๒ ซม.เมล็ดสีดำหรือสีน้ำตาลเป็นมัน ขนาด ๐.๕-๑ ซม. มี ๑-๒ เมล็ด
จำปูนชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นในที่ร่มรำไร ตามริมลำธาร ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี
ปัจจุบันในประเทศไทย จำปูนชนิด Anaxagorea javanica Blume พบ ๓ var. มีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้
var. javanica เรียก จำปูน มีกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบดอก ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ ชั้น พบในป่าดิบชื้นทางภาคตะวันออกและภาคใต้
var. dipetala Corner เรียก จำปูน ๒ กลีบมีกลีบเลี้ยง ๒ กลีบ กลีบดอก ๒ กลีบ เรียงประกบกันเป็นชั้นเดียว พบในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย
var. tripetala Corner เรียก จำปูนเบตง มีกลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบดอก ๓ กลีบ เรียงประกบกันเป็นชั้นเดียว พบในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.