ข้าวสารน้อยเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. เป็นกอหรือแตกกิ่งต่ำ ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว เปลือกลำต้นและกิ่งเรียบ เกลี้ยง สีเทาหรือน้ำตาลอมเทา มีช่องอากาศสีจางประตามยาวทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรีค่อนข้างกว้าง กว้าง ๒-๗ ซม. ยาว ๕-๑๗ ซม. ปลายเรียวแหลมและมักโค้งเล็กน้อย โคนสอบและเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อยหรือเป็นจงอยยื่นพ้นขอบออกมาคล้ายหนามแหลม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีตองอ่อนหรือเป็นคราบขาว เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๙ เส้น ปลายเส้นโค้งอ่อนไปสู่ขอบใบหรืออาจเชื่อมกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด มักมีตุ่มเกลี้ยงคล้ายแผลเป็นรูปรีตามขอบใบหรือง่ามเส้นแขนงใบใกล้โคนใบ ก้านใบยาว ๑-๔ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ อาจแยกแขนงตามโคนช่อบ้างแต่ไม่มาก ออกตามง่ามใบหรือเหนือรอยแผลใบและตามปลายกิ่ง กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๒-๘ ซม. ช่อแขนงยาว ๑-๔ ซม. ก้านช่อยาวประมาณ ๑ ซม. ดอกเล็ก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ หรืออาจมีดอกแยกเพศในช่อเดียวกัน กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ ๕ แฉก ยาวรวมกันประมาณ ๑ มม. กลีบดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน รูประฆัง ยาวทั้งสิ้นประมาณ ๒ มม. ส่วนที่ติดกันยาวเท่ากันกับส่วนที่แยกเป็นแฉกแหลมทู่ ๆ ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕ อัน โคนก้านชูอับเรณูติดที่ด้านในหลอดกลีบดอก และติดตรงข้ามกับแฉกกลีบ อับเรณูป้อมติดกับก้านชูอับเรณูที่ฐาน และจะแตกตามแนวยาวด้านข้าง รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ มีช่องเดียว ออวุลมีจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ค่อนข้างกลม สีขาวหรือเหลืองอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. ยังมีโคนกลีบเลี้ยงที่ติดทน ผิวผลบาง เปราะ และย่นเมื่อแห้ง ก้านผลยาวประมาณ ๑ มม. เมล็ดเล็กมาก สีดำ
ข้าวสารน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบใกล้แหล่งน้ำมีร่มเงา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๒,๓๐๐ ม. ออกดอกเป็นผลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม มักมีทั้งดอกและผลในขณะเดียวกัน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ และเวียดนาม
ใบอ่อนและยอดอ่อนกินได้.