ช้าแป้น

Callicarpa arborea Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
กะตอกช้าง, ตาโมงปะสี (ยะลา); ขลุ่ย (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ทับแป้ง (สระบุรี); ดืออะดาปู (มลายู-นราธิว
ไม้ต้นหรือไม้พุ่ม กิ่งเป็นสี่เหลี่ยมขอบมน มีขนรูปดาวหรือขนมีกิ่ง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากรูปรี รูปรีกว้าง รูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงออกตามซอกใบ ดอกสีม่วง กลีบดอกรูประฆัง ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงเกือบกลม เกลี้ยงผลแก่สีม่วง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก

ช้าแป้นเป็นไม้ต้นหรือไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑๒ ม. กิ่งเป็นสี่เหลี่ยมขอบมน มีขนรูปดาวหรือขนมีกิ่งสีเทาแกมน้ำตาลหรือสีเทาแกมขาวหนาแน่น กิ่งแก่มีช่องอากาศกระจายทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปรีกว้าง รูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนานกว้าง ๓.๕-๒๕ ซม. ยาว ๘-๓๕ ซม. ปลายส่วนใหญ่ยาวคล้ายหางหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวหรือขนมีกิ่งตามเส้นกลางใบและมีต่อมขนาดเล็กจำนวนมาก ด้านล่างมีขนรูปดาวหรือขนมีกิ่งหนาแน่น และมีต่อมขนาดเล็กจำนวนมาก เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๕ เส้น เห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑.๕-๘.๕ ซม.


ด้านบนเป็นร่องตื้น ๆ มีขนรูปดาวหรือขนมีกิ่งหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาว ๗-๒๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒.๕-๑๐ ซม. ก้านและแกนช่อดอกมีขนรูปดาวและมีต่อมหนาแน่น ก้านดอกยาว ๐.๕-๒ มม. ใบประดับรูปรี รูปรีกว้างรูปไข่ รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑๕ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. ดอกเล็ก มีจำนวนมากสีม่วง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาว ๑-๑.๕ มม. ด้านนอกมีขนรูปดาวและมีต่อมด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ยาว ๐.๑-๐.๕ มม. กว้าง ๐.๒-๐.๓ มม. กลีบดอกรูประฆัง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาว ด้านในเกลี้ยง มีต่อม ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปไข่หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๘-๑ มม. ยาว ๑-๑.๒ มม. ปลายแฉกมน เกสรเพศผู้ ๔ เกสร แยกเป็น ๒ คู่ ยาวเท่ากัน โผล่พ้นหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๕-๗ มม. อับเรณูรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว ๑-๑.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงเกือบกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๐.๘ มม. มีขนรูปดาวหนาแน่นหรือมีต่อมสีเหลืองประปราย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ๔.๕-๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก

 ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๖ มม. เกลี้ยง มีต่อมสีเหลืองประปราย ผลแก่สีม่วง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดขนาดเล็ก มี ๒-๔ เมล็ด

 ช้าแป้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามพื้นที่โล่งในป่าทุกประเภท ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดทั้งปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา บังกลาเทศ จีน และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้าแป้น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Callicarpa arborea Roxb.
ชื่อสกุล
Callicarpa
คำระบุชนิด
arborea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
กะตอกช้าง, ตาโมงปะสี (ยะลา); ขลุ่ย (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); ทับแป้ง (สระบุรี); ดืออะดาปู (มลายู-นราธิว
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จรัล ลีรติวงศ์