เดื่อหูกวาง

Meliosma simplicifolia (Roxb.) Walp. subsp. simplicifolia

ชื่ออื่น ๆ
เชาะข่าเรือโพ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); เดื่อหลวง (เหนือ); เท่ลิดอาส่า (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)

ไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงและมีช่องอากาศทั่วไป ใบประกอบแบบลดรูปเหลือใบเดียว เรียงเวียน รูปใบหอกกลับ รูปไข่กลับ หรือรูปรี ไม่มีหูใบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง รูปสามเหลี่ยม ออกที่ปลาย กิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม แข็ง มีเมล็ด ๑ เมล็ด


     เดื่อหูกวางเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๑๐ ม. แตกกิ่งต่ำ กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงและมีช่อง อากาศทั่วไป เปลือกเรียบ สีเทาอ่อน
     ใบประกอบแบบลดรูปเหลือใบเดียว เรียงเวียน รูปใบหอกกลับ รูปไข่กลับ หรือรูปรี กว้าง ๓-๑๒ ซม. ยาว ๙-๓๐ ซม. ปลายแหลม เป็นติ่ง หรือเว้าตื้น โคนสอบถึง โคนก้านคล้ายครีบของก้านใบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็ก น้อย แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างมี คราบสีขาว เมื่ออ่อนมีขนและขนค่อนข้างหนาแน่นตาม เส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๒๐ เส้น ปลายเส้น โค้งจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ใบแห้งสีออกน้ำตาลแดง ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. โคนก้านย่นและสีออกดำเมื่อแห้ง ไม่มีหูใบ
     ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง รูปสามเหลี่ยม ออกที่ ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อตั้งหรือห้อยลง ยาว ๒๐-๔๐ ซม. ทุกส่วนของช่อดอกมีขน ใบประดับที่ โคนก้านช่อแขนงรูปใบหอก ยาวไม่เกิน ๘ มม. ร่วงง่าย ไร้ก้านดอกหรือมีก้านยาวได้ถึง ๓ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดแตกต่างกัน กลีบงุ้มเข้า กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว ขนาดเล็กมาก ยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีกลิ่นหอม เกสร เพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์มี ๒ เกสร ก้านเกสรยาวเท่ากับ กลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียปลาย แยกเป็น ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเล็ก
     ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม แข็ง เส้น ผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ มม. ก้านผลยาว ๒-๓ มม. มีเมล็ด ๑ เมล็ด
     เดื่อหูกวางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่า เบญจพรรณชื้น ป่าดิบเขาใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับ ทะเล ๕๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่ อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา จีนตอนใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่นตอนใต้
     ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เดื่อหูกวาง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Meliosma simplicifolia (Roxb.) Walp. subsp. simplicifolia
ชื่อสกุล
Meliosma
คำระบุชนิด
simplicifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- (Roxb.)
- Walp.
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. simplicifolia
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (Roxb.) ช่วงเวลาคือ (1751-1815)
- Walp. ช่วงเวลาคือ (1816-1853)
ชื่ออื่น ๆ
เชาะข่าเรือโพ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); เดื่อหลวง (เหนือ); เท่ลิดอาส่า (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.