เครือน่อง

Strophanthus caudatus (L.) Kurz

ชื่ออื่น ๆ
น่อง, ยางน่องเครือ (ตะวันออก); ยางน่องเถา (ตะวันออกเฉียงใต้); บานบุรีป่า (ใต้)
ไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถา ทุกส่วนมียางใสเถา กิ่งแก่และผลมีช่องอากาศ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามรูปรี รูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวอมเหลืองปนม่วงแดง ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่โคนติดกัน ปลายแยกกางออกตรงกันข้าม รูปทรงกระบอกปลายเรียว สุกสีแดงเรื่อ เมล็ดรูปทรงรีหรือ รูปกระสวย แบน มีกระจุกขนสีขาวเป็นมันคล้ายไหมที่ปลาย

เครือน่องเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถา ยาวได้ ถึง ๑๒ ม. ทุกส่วนมียางใสเถา และกิ่งแก่มืช่องอากาศเกลี้ยงหรือมีขนละเอียดเล็กน้อย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๑๑.๕ ซม. ยาว ๖-๒๓ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงมน อาจพบปลายเว้าตื้นบ้าง โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังหรืออาจบางคล้ายกระดาษ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ปลายกิ่ง เป็นช่อใหญ่ยาว ๑๙-๒๖ ซม. ใบประดับรูปไข่ถึงรูปแถบแกมรูปไข่ ยาว ๐.๓-๐.๕(-๑) ซม. ดอกสีขาวอมเหลืองปนม่วงแดง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีม่วงแดง รูปไข่ กว้าง ๑.๗-๓(-๔) มม. ยาว ๐.๔-๐.๕(-๑.๕) ซม. ปลายเรียวแหลม มีขนละเอียดหรือมีขนครุย มีต่อมที่โคนกลีบเลี้ยง ๕ ต่อม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยก กว้าง ๐.๘-๑.๒ ซม. ยาว ๑.๓-๓.๒ ซม. แฉกกลีบดอกซ้อนเหลื่อมกันและบิดเวียนไปทางขวาในดอกตูม เมื่อบานปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกรูปสามเหลี่ยม สีม่วงแดง ปลายยื่นยาวออกไปเป็นหาง กว้าง ๒-๔ มม. ยาวได้ถึง ๑๓.๕ ซม. บริเวณปากหลอดดอกมีกะบังรอบ ๑๐ แฉก รูปไข่ถึงรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว ๔-๗ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดภายในหลอดกลีบดอก สูงจากโคนหลอด ๑.๕-๒.๒ ซม. ก้านชูอับเรณูอ้วน สั้น มีขนนุ่ม อับเรณูรูปสามเหลี่ยมแคบโคนรูปเงี่ยงลูกศร มีปลายยื่นยาวออกไปและติดกันล้อมรอบก้านยอดเกสรเพศเมียไว้ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๒ อัน แยกกัน แต่ละอันมี ๑-๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียรวมยอดเกสรเพศเมียยาว ๑.๒-๑.๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียกลม

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ โคนติดกัน ปลายแยกกางออกตรงกันข้าม ขนาดใหญ่ รูปทรงกระบอกปลายเรียวกว้าง ๒-๔.๘ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. สีเขียว มีช่องอากาศ สุกสีแดงเรื่อ เมล็ดจำนวนมากรูปทรงรีหรือรูปกระสวย แบน กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. ปลายเป็นจะงอย ยาว ๐.๕-๑.๔ ซม.ไม่มีขนและช่วงปลายของจะงอยยาว ๑-๒.๓ ซม. มีกระจุกขนสีขาวเป็นมันคล้ายไหม ยาว ๔-๗(-๙) ซม.

 เครือน่องมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบขึ้นตามชายป่า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ อาจนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ยางมีสารพิษใช้ชุบลูกดอกอาบยาพิษ เมล็ดมี cardiac glycoside ชื่อ strophanthin ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ เพิ่มความดันโลหิตและขับปัสสาวะ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เครือน่อง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Strophanthus caudatus (L.) Kurz
ชื่อสกุล
Strophanthus
คำระบุชนิด
caudatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Kurz, Wilhelm Sulpiz (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
น่อง, ยางน่องเครือ (ตะวันออก); ยางน่องเถา (ตะวันออกเฉียงใต้); บานบุรีป่า (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย