ตำแยช้างชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๓-๗ ม. กึ่งมีเนื้อไม้ แตกกิ่งโปร่ง กิ่งก้านค่อนข้างตรง เปลือกต้นและกิ่งสีเขียวอมเทา มีขนพิษประปราย
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ พบน้อยที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง ๕-๒๐ ซม. ยาว ๑๐-๔๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมน สอบ หรือรูปหัวใจ ขอบเรียบหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางหรือค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ นูนชัดทางด้านล่าง ผิวใบทั้ง ๒ ด้านมีขนพิษ มีผลึกหินปูนเฉพาะทางด้านบน ก้านใบยาว ๒-๑๐ ซม. หูใบรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. สีน้ำตาล ค่อนข้างหนา มีขนด้านล่าง ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกกิ่งย่อยที่ปลายยอดและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกเพศผู้ยาว ๕-๑๐ ซม. ดอกเพศผู้กึ่งไร้ก้าน ดอกตูมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๒ มม. กลีบรวม ๔ กลีบ รูปไข่ ขนาดเล็กมาก และมีขนพิษประปราย เกสรเพศผู้ ๔ เกสร รังไข่ที่ไม่เจริญทรงรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ช่อดอกเพศเมียยาว ๑๐-๒๐ ซม. ดอกเพศเมียมีก้านดอกชัด กลีบรวม ๔ กลีบ รูปไม่เหมือนกัน ยาว ๑-๑.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียรูปลิ้น ยาวประมาณ ๒ มม.
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปพีระมิดไม่สมมาตร ยาว ๕-๖ มม. ผิวเป็นตุ่ม มีกลีบรวมขยายใหญ่และติดทนหุ้มโคนผลเป็นรูปถ้วย มีเมล็ด ๑ เมล็ด
ตำแยช้างชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนกันยายนถึงเมษายน เป็นผลเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา จีน และมาเลเซีย
ตำแยช้างชนิดนี้เป็นพืชมีพิษ เมื่อสัมผัสถูกผิวหนังจะเกิดอาการปวดแสบร้อน.