ชาปัตตาเวีย

Malpighia coccigera L.

ชื่ออื่น ๆ
ชาดอก, ชาใบมัน, ชาใบหนาม (กรุงเทพฯ)
ไม้พุ่ม แตกกิ่งมาก กิ่งก้านเรียว เมื่ออ่อนมีขนเซลล์เดียว ปลายขนแยกเป็น ๒ แฉก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามรูปไข่ รูปไข่กลับ หรือรูปเกือบกลมถึงรูปรี ดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุก ๒-๓ ดอก ออกตามซอกใบ สีขาวถึงสีชมพูอ่อน กลิ่นหอมอ่อน ผลแบบผลแยกแล้วแตก สีส้มถึงสีแดง มีเนื้อ รูปทรงค่อนข้างกลมหรือหยักเป็น ๒ พู ซีกผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง เมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม มี ๑-๒ เมล็ด

ชาปัตตาเวียเป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๒.๕ ม. แตกกิ่งมาก กิ่งก้านเรียว เมื่ออ่อนมีขนเซลล์เดียว ปลายขนแยกเป็น ๒ แฉก ขนเอนแนบกับพื้นผิว มีแกนกลางและแขน ๒ ข้างเป็นรูปตัวที (T) หรือวาย (Y) อาจลดรูปเหลือแขนข้างเดียว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปไข่กลับ หรือรูปเกือบกลมถึงรูปรี กว้าง ๐.๔-๑.๕ ซม. ยาว ๐.๕-๒ ซม. ปลายมนกลมหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนกลมถึงตัด ขอบหยักซี่ฟัน ปลายหยักแหลมเป็นหนาม ขอบใบระหว่างหยักมักม้วนงอหรือเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง เป็นมัน ด้านบนสีเขียวเข้มเส้นใบเห็นเด่นชัด ด้านล่างสีเขียวอ่อน ก้านใบยาว ๑-๒ มม. มีขนหรือเกลี้ยง หูใบ ๒ หู รูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ ๑ มม. ร่วงง่าย

 ดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อกระจุก ๒-๓ ดอก ออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกเห็นไม่ชัด ก้านดอกเรียวเล็กมีข้อต่อยาว ๑.๕-๒ ซม. มีขนหรือเกลี้ยง ใบประดับขนาดเล็กมาก ดอกสมมาตรด้านข้าง สีขาวถึงสีชมพูอ่อน กลิ่นหอมอ่อน ใบประดับย่อย ๒ ใบ ขนาดเล็กมากอยู่ที่ข้อต่อ รูปไข่ ยาวประมาณ ๐.๕ มม. มีขนกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน รูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว ๒-๓ มม. ด้านนอกมีขนหรือเกลี้ยง ที่โคนกลีบมีต่อมรูปรี ยาว ๑.๕-๒ มม. กลีบละ ๑-๒ ต่อม กลีบดอก ๕ กลีบ


ขนาดไม่เท่ากันมีก้านกลีบรูปแถบ ยาว ๒-๔ มม. แผ่นกลีบรูปเกือบ กลม รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๓-๗ มม. ปลายกลมหรือมน กลีบด้านหลังขนาดใหญ่สุด หยักเป็นลอน ขอบหยักซี่ฟันแกมชายครุยโดยรอบ กลีบด้านข้าง ๒ กลีบ ขนาดเล็กกว่า หยักเป็นลอนหรือยับย่นเล็กน้อย ขอบกลีบหยักซี่ฟันตื้นแกมชายครุย โดยรอบหรือเฉพาะด้านข้าง กลีบด้านหน้า ๒ กลีบ ขนาดเล็กสุด ยับย่นเล็กน้อยหรือเรียบ ขอบหยัก ซี่ฟันเฉพาะด้านข้าง เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย ขนาดเกือบเท่ากัน ยาว ๒.๕-๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ก้านชูอับเรณูที่อยู่ตรงกับกลีบดอกด้านข้างมี ๒ ก้าน สีแดง ขนาดใหญ่กว่าก้านอื่น ๆ ก้านชูอับเรณูที่เหลือสีเขียว อับเรณูสีเหลือง รูปขอบขนาน ยาว ๐.๘-๑.๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ หยักเป็น ๓ พู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๓ ก้าน ก้านหนา ๒ ก้านโค้งและชูขึ้นคล้ายรูปคันธนู ยาวประมาณ ๕ มม. อีก ๑ ก้านมีขนาดเล็กกว่าหรือฝ่อ ยอดเกสรเพศเมียรูปไข่ ปลายแหลม

 ผลแบบผลแยกแล้วแตก สีส้มถึงสีแดง มีเนื้อรูปทรงค่อนข้างกลมหรือหยักเป็น ๒ พู ยาว ๐.๗-๑ ซม. กว้าง ๕-๗ มม. เรียบ เกลี้ยง ซีกผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง มี ๓ ซีก เจริญเพียง ๑-๒ ซีก มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม มี ๑-๒ เมล็ด

 ชาปัตตาเวียเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางแถบแคริบเบียน พบปลูกทั่วไปเป็นไม้ประดับในเขตร้อน นิยมปลูกเป็นไม้ตัด แต่งทรงพุ่ม บอนไซ หรือไม้ดัด ชื่อชาปัตตาเวียตั้งตามชื่อเมืองปัตตาเวีย (Batavia) ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าจากถิ่นกำเนิดเดิมมาปลูกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก ปัจจุบันคือพื้นที่ทำงเหนือของเมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาปัตตาเวีย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Malpighia coccigera L.
ชื่อสกุล
Malpighia
คำระบุชนิด
coccigera
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ชาดอก, ชาใบมัน, ชาใบหนาม (กรุงเทพฯ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวสุชาดา วงศ์ภาคำ