จำปีสีนวล

Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre var. champaca × Magnolia × alba (DC.) Figlar

ไม้ต้น เปลือกเรียบ หนา สีเทา มีช่องอากาศเป็นขีดยาว มีกลิ่นฉุน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หูใบหุ้มยอดอ่อนและเชื่อมติดกับก้านใบ ร่วงง่าย รอยแผลของหูใบยาวเกือบตลอดก้านใบ ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ กลิ่นหอมแรงกลีบรวมสีเหลืองอมส้มหรือสีเหลืองนวล กลีบชั้นนอกเรียวแคบและสั้นกว่าชั้นในเล็กน้อย ผลแบบผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลแห้งแตกแนวเดียว รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ถึงรูปทรงรี เปลือกหนา มีช่องอากาศนูนเด่นสีขาว เมล็ดรูปทรงกลมค่อนข้างรี มี ๑-๔ เมล็ด

จำปีสีนวลเป็นไม้ต้น สูง ๖-๑๒ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๐-๕๐ ซม. เปลือกเรียบ หนา สีเทา มีช่องอากาศเป็นขีดยาว มีกลิ่นฉุน แตกกิ่งในแนวระนาบ ทรงพุ่มกลม โปร่ง กิ่งอ่อนเกลี้ยง มีช่องอากาศเป็นตุ่มนูน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปไข่กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๑๒-๒๕ ซม. ปลายเรียวแหลมและมีติ่งแหลม ยาว ๐.๘-๒.๕ ซม. โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๔ เส้น เป็นร่องทางด้านบนและเป็นสันนูนทางด้านล่างปลายเส้นเชื่อมกันก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑.๕-๔ ซม. หูใบหุ้มยอดอ่อนและเชื่อมติดกับก้านใบ ร่วงง่าย รอยแผลของหูใบยาวเกือบตลอดก้านใบ

 ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ กลิ่นหอมแรง มีกาบหุ้มดอก ๑ กาบ เกลี้ยง ก้านดอกเรียว ยาว ๑.๕-๒.๓ ซม. มี ๑ ข้อ กลีบรวม ๑๐-๑๒ กลีบ สีเหลืองอมส้มหรือสีเหลืองนวล ลักษณะคล้ายกัน แต่ละกลีบค่อนข้างอวบหนา กลีบชั้นนอก ๓-๔ กลีบ รูปใบหอกถึงรูปช้อนกว้าง ๐.๘-๑.๒ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. เรียวแคบและสั้นกว่ากลีบชั้นในเล็กน้อย เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาว ๐.๘-๑ ซม.


ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๑.๕ มม. อับเรณูหันเข้าด้านใน ยาว ๔-๖ มม. เรียงเป็นวงล้อมรอบโคนแกนฐานดอกรูปทรงกระบอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑๕-๑๙ รังไข่ แยกจากกันเป็นอิสระ เรียงเวียนบนแกนฐานดอกเป็นรูปทรงกระบอก ยาว ๑-๑.๕ ซม. แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๖ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นสันโค้ง รังไข่ส่วนใหญ่จะฝ่อ

 ผลแบบผลกลุ่ม เป็นช่อยาว ๖-๑๐ ซม. ก้านช่อผลยาว ๒-๓.๕ ซม. ผลย่อยแบบผลแตกแห้งแนวเดียว มี ๔-๑๒ ผล ก้านผลย่อยสั้นมาก ผลย่อยรูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ถึงรูปทรงรี กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๓ ซม. เปลือกหนา มีช่องอากาศนูนเด่นสีขาวเมล็ดรูปทรงกลมค่อนข้างรี กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๖-๙ มม. มี ๑-๔ เมล็ด ส่วนใหญ่ไม่ติดผล

 จากการตรวจสอบดีเอ็นเอพบว่าจำปีสีนวลเป็นลูกผสม โดยมีจำปาเป็นแม่พันธุ์และจำปีเป็นพ่อพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นครั้งแรกในเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานครดอกมีกลิ่นหอมและสวยงาม มีใบคล้ายจำปีและมีดอกคล้ายจำปา นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ออกดอกเดือนมีนาคมถึงตุลาคม ในช่วงที่ไม่ออกดอกจะแยกจากต้นจำปีโดยใช้รอยแผลรอบข้อบนกิ่งที่อยู่เหนือใบและรอยแผลของหูใบบนก้านใบ จำปีมีรอยแผลรอบข้อในแนวขวางและมีรอยแผลของหูใบยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวก้านใบ ส่วนจำปีสีนวลมีรอยแผลรอบข้อในแนวเฉียงและมีรอยแผลของหูใบยาวเกือบเท่าความยาวก้านใบ แต่จำปามีรอยแผลรอบข้ออยู่ในแนวเฉียง และรอยแผลของหูใบยาวครึ่งหนึ่งของก้านใบ จำปีสีนวลจะแยกจากจำปาได้ง่ายเนื่องจากใบแตกต่างกัน ปรกติแล้วจำปีสีนวลไม่ติดผลเช่นเดียวกับจำปี ขยายพันธุ์โดยการตอน ปักชำ และทาบกิ่ง ต้นจำปีสีนวลที่ติดผล เมื่อนำเมล็ดมาเพาะจะงอกเป็นต้นจำปา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จำปีสีนวล
ชื่อวิทยาศาสตร์
Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre var. champaca × Magnolia × alba (DC.) Figlar
ชื่อสกุล
Magnolia
คำระบุชนิด
champaca
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Baillon, Henri Ernest
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. champaca × Magnolia × alba
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (DC.) Figlar
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Baillon, Henri Ernest (1827-1895)
- Pierre, Jean Baptiste Louis (1833-1905)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น