ข้าวสารดอกเล็กเป็นไม้เถา ทุกส่วนมียางขาว เถากลม ผิวสีเขียวเป็นมัน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๗ มม.
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมรูปหัวใจ หรือรูปรีแกมรูปหัวใจ กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนเว้าลึก ขอบเรียบ แผ่นใบบาง มีขนอ่อนสั้นกระจายห่าง ๆ ทั้ง ๒ ด้าน และค่อนข้างหนาแน่นตามเส้นใบด้านล่าง เส้นแขนงใบบริเวณใกล้โคนเส้นกลางใบแยกออกจากจุดใกล้ระดับเดียวกันข้างละ ๒-๓ เส้น และมีเส้นแขนงใบอีกข้างละ ๓-๔ เส้น โคนเส้นกลางใบด้านบนมีต่อมเล็ก ๆ รูปคนโท จำนวน ๕-๑๐ ต่อม ก้านใบมีลักษณะอ่อน ยาว ๓-๗ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงหรือกึ่งช่อซี่ร่ม ออกตามง่ามใบของกิ่งอ่อน ก้านช่อยาว ๓-๖ ซม. ดอกในช่อ ๔-๙ ดอก รูปกรวยกว้างแกมรูปกงล้อ ขนาด ๑.๒-๒ ซม. แรกบานสีขาวนวลแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวอ่อน แต่ละกลีบรูปไข่ ขนาดประมาณ ๓ มม. ส่วนโคนซ้อนเวียนเหลื่อมกันเล็กน้อย ขอบมีขนสั้น ๆ กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดยาวประมาณครึ่งหนึ่งของกลีบ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปรีปลายมน ซ้อนเวียนไปทางขวา เมื่อดอกบานเต็มที่ปลายกลีบบิดม้วนลงเล็กน้อย เส้าเกสรกลางดอกสีขาว รูปรี รอบนอกมีรยางค์รูปไข่แกมรูปใบหอก ๕ อัน เรียงตัวในแนวตั้ง ปลายรยางค์เป็นเส้นกลมเรียว ยาวกว่าหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๕ อัน เชื่อมติดกันทางด้านข้าง กลุ่มเรณูติดกันเป็นคู่ห้อยลงจากก้านกลุ่มเรณู แผ่นยึดก้านสีน้ำตาลเข้ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ คู่ แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกัน ยอดเกสรเพศเมียเป็นก้อนเกือบกลม กลางยอดมีรอยบุ๋มเล็กน้อย
ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ รูปทรงกระบอกแกมรูปไข่ เบี้ยว กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๘-๑๒ ซม. ปลายเรียว เมล็ดค่อนข้างแบน มีจำนวนมาก ปลายด้านหนึ่งมีขนยาวเป็นพู่สีขาว
ข้าวสารดอกเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ขึ้นตามชายป่า ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงอินโดนีเซีย
เป็นไม้เถาที่ให้ดอกดกสวยงาม กลิ่นหอม ออกดอกตั้งแต่เดือนกันยายนถึงมีนาคม ปลูกเลี้ยงได้ง่าย เหมาะสำหรับนำมาเป็นไม้ประดับ ยอดอ่อน ช่อดอก และผลอ่อนใช้เป็นอาหาร นิยมทำให้สุกโดยการต้มหรือใส่แกง เมล็ดมีสารพิษประเภท cardiac glycoside.