กฤษณาชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔๐ ม. ลำต้นเปลาเปลือกเรียบ สีเทาหรือขาว
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๕-๙ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมน ขอบเป็นคลื่นม้วนลงเล็กน้อย แผ่นใบบางและเรียบ ด้านบนเป็นมัน
ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง มี ๘-๑๐ ดอก ดอกเล็ก สีเขียวอมเหลือง กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดยาว ๓-๕ มม. ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในค่อนข้างเกลี้ยง ปลายแยก ๕ แฉก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๓ มม. มีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๑๐ กลีบ มีขนยาวห่างติดอยู่ที่คอของหลอดกลีบเลี้ยง สลับกับแฉกกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๒ ช่อง ยอดเกสรเพศเมียกลม
ผลแบบผลแห้งแตก แตกกลางหู รูปขอบขนาน ผิวมีขนสั้นนุ่ม เมล็ดรูปไข่ กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสีแดง ปลายเป็นจะงอยยาวประมาณ ๔ มม.
กฤษณาชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่อินเดียทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ พม่า และภูมิภาคมาเลเซีย
ไม้กฤษณามีสีขาวถึงสีนวล เนื้อไม้อ่อน ยืดหยุ่นปราศจากกลิ่นและไม่มียาง จะมีกลิ่นหอมก็ต่อเมื่อมีเชื้อราชนิด Cystosphaera mangiferae Died. เข้าไปเจริญในเนื้อไม้ทำให้เนื้อไม้มีสีเข้มขึ้น และเนื้อไม้ส่วนนี้มี oleoresin เกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งเมื่อกิ่งหักจะมี oleoresin ไหลเยิ้มและมีกลิ่นหอมเนื้อไม้ที่มีกลิ่นหอมภาษาฮินดูเรียกว่า “agaru” หรือ “agar
การแบ่งชั้นคุณภาพของไม้กฤษณานั้นอาศัยสีและน้ำ หนักเป็นมาตรฐาน ไม้กฤษณาที่มีคุณภาพที่เรียกกันว่า true agar มีสีน้ำตาลเข้ม แข็ง หนักกว่าน้ำ และมีชันปริมาณสูงไม้หอมมีรสขมเล็กน้อย กลิ่นหอมชวนดมคล้ายกลิ่นไม้จันทน์ (Sandalwood) หรืออำพันปลา (ambergris) เมื่อเผาไฟให้เปลวไฟโชติช่วงและมีกลิ่นหอม ชาวอาหรับและชาวปาร์ซี (Parsee) นิยมนำไม้หอมมาเผาไฟเพื่ออบห้องให้มีกลิ่นหอมสารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมเป็นสารประเภท sesquiterpene alcohol (Bhatnagar ed., 1948; Baruah et al, 1982)
ไม้หอมชนิดคุณภาพรองลงไปมีเนื้อไม้และสีอ่อนกว่า ในตลาดเรียกว่า “dhum” ชนิดนี้เมื่อนำมากลั่นได้น้ำมันระเหยง่าย เรียกว่า agar attar มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำมันกุหลาบ ในยุโรปนิยมนำมาปรุงเป็นน้ำหอมชนิดคุณภาพดี (Bhatnagar ed., 1948; Baruah et al, 1982) ไม้หอมที่ขายในท้องตลาดมักฝานเป็นชิ้นหรือทำเป็นก้อนสี่เหลี่ยมหนักประมาณ ๐.๕ กก.
ผงไม้หอมใช้โรยบนเสื้อผ้าหรือบนร่างกายเพื่อฆ่าหมัดและเหา ยาพื้นบ้านของอินเดียและอีกหลายประเทศในทวีปเอเชียใช้ไม้หอมเป็นส่วนผสมในยาหอม ยาบำรุง ยากระตุ้นหัวใจ และยาขับลม นอกจากใช้ไม้หอมแล้วยังใช้สิ่งสกัดด้วย แอลกอฮอล์ของไม้หอมเป็นยาอีกด้วย (Bhatnagar ed., 1948; Baruah et al, 1982)
ในแหลมมลายูใช้ไม้หอมเป็นส่วนผสมในเครื่องสําอางและใช้บำบัดโรคผิวหนังหลายชนิด สิ่งสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของเปลือกต้นจากประเทศไทยมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง P-338 นอกกาย (in vitro) ได้ ซึ่งเมื่อนำสิ่งสกัดด้วยแอลกอฮอล์มาสกัดแยกให้บริสุทธิ์ มีรายงานว่าพบสาร ๒ ชนิด ได้แก่ 1,3-dibehenyl-2-ferulyl glyceride และ 12-0-n-deca-2,4,6,-trienoylphorbol-13-acetate ซึ่งสามารถฆ่าเซลล์มะเร็ง P-338 ได้เช่นกัน (Gunasekera et al, 1981)