ข้าวสารค่าง

Cardiopteris quinqueloba (Hassk.) Hassk.

ชื่ออื่น ๆ
ตุ๊กตู๋ (ชลบุรี); ผักแต๋นแต้ (ลพบุรี); หวี่หวี่ (สระบุรี); อีหวี่ (ปราจีนบุรี)
ไม้เถา ลำต้นกลม แตกแขนงมาก มียางขาว ใบเรียงเวียน รูปรีหรือค่อนข้างกลม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้ง มี ๒ ปีก รูปไข่กลับแกมรูปรี ด้านข้างแผ่ออกเป็นปีก ปลายเว้าตื้น

ข้าวสารค่างเป็นไม้เถา ลำต้นกลม แตกแขนงมาก มียางขาว

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่หรือค่อนข้างกลม กว้าง ๔.๕-๙ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลมเป็นติ่งยาว โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบเว้าตื้น ๓-๕ แฉก ปลายแฉกแหลม แผ่นใบบาง เส้นโคนใบ ๗-๙ เส้น ก้านใบยาว ๑.๒-๓.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาว ๑๖-๒๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๕.๕-๑๑ ซม. ดอกเล็ก สีขาว ไม่มีก้านดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ หรือดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศผู้อยู่ร่วมต้น ดอกสมบูรณ์เพศมีกลีบเลี้ยง โคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก กลีบดอกโคนติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยก ๔-๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๔-๕ อัน ติดอยู่ใกล้ปากหลอดดอกและสลับกับแฉก ก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายสี่เหลี่ยม มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒ เม็ด ติดอยู่ที่ยอดรังไข่ ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๒ อัน อันหนึ่งมีร่องตามยาว ปลายเป็น ๒ แฉก รูปไข่ไม่เท่ากัน และคงติดอยู่ที่ผล ส่วนอีกอันหนึ่งสั้นและโค้ง ปลายเป็นตุ่ม ร่วงง่าย ดอกเพศผู้คล้ายดอกสมบูรณ์เพศแต่ไม่มีเกสรเพศเมีย

 ผลแบบผลแห้งมี ๒ ปีก รูปไข่กลับแกมรี กว้าง ๑.๓-๑.๕ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. ด้านข้างแผ่ออกเป็นปีก ปลายผลเว้าตื้นและมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดอยู่ ๑ อัน มี ๑ เมล็ด

 ข้าวสารค่างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าผลัดใบ ป่าไผ่ ตามที่รกร้าง และตามเขาหินปูน บนพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงสูงไม่เกิน ๑๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) อินเดีย (รัฐอัสสัม, รัฐเบงกอล) พม่า เวียดนาม และทางตะวันตกของมาเลเซีย.


ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวสารค่าง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cardiopteris quinqueloba (Hassk.) Hassk.
ชื่อสกุล
Cardiopteris
คำระบุชนิด
quinqueloba
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hasskarl, Justus Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Hasskarl, Justus Carl (1811-1894)
ชื่ออื่น ๆ
ตุ๊กตู๋ (ชลบุรี); ผักแต๋นแต้ (ลพบุรี); หวี่หวี่ (สระบุรี); อีหวี่ (ปราจีนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา