กรุงเขมา

Cissampelos pareira L. var. hirsuta (Buch. ex DC.) Forman

ชื่ออื่น ๆ
ขงเขมา, พระพาย (กลาง); เครือหมาน้อย (ตะวันออกเฉียงเหนือ); สีฟัน (เพชรบุรี)
ไม้เถา มีขนนุ่มหนาแน่นทั่วไป ใบเรียงสลับ รูปกลมหรือรูปหัวใจ ดอกแยกเพศต่างต้น สีเขียวอมเหลือง ออกตามง่ามใบดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ดอกเพศเมียแบบช่อกระจะ ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง ค่อนข้างกลม ผลสุกสีแดง

กรุงเขมาเป็นไม้เถา เถา กิ่ง ใบ และช่อดอกมีขนนุ่มหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปกลม รูปหัวใจ หรือรูปไต ก้นปิด กว้างและยาว ๒-๑๐ ซม. บางครั้งอาจกว้างมากกว่ายาวปลายแหลมหรือเป็นติ่งหนาม โคนมน ตัด หรือเว้าเล็กน้อย เมื่อยังอ่อนมีขนนุ่มหนาแน่นทั้ง ๒ ด้านและตามขอบใบ แต่จะร่วงไปเมื่อใบแก่ ก้านใบยาว ๒-๑๐ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น ขนาดเล็ก สีเขียวอมเหลืองหรือเหลืองอ่อน ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจุกที่ง่ามใบ ยาว ๒-๘.๕ ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๑.๘ ซม. ใบประดับเล็ก รูปลิ่มกลับ กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ยาวประมาณ ๒ มม. ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอก ๔ กลีบ โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง ยาวประมาณครึ่งหนึ่งของกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้มัดเดี่ยว ยาวกว่ากลีบเลี้ยง อับเรณูติดกันเป็นรูปจาน ดอกเพศเมียออกเป็นช่อกระจะที่ง่ามใบ ยาว ๒.๕-๕ ซม. ก้านดอกสั้นมาก ใบประดับ รูปกลมหรือรูปไต ซ้อนเหลื่ยมกันแน่น ไม่ร่วง ปลายเป็นติ่งหนามมีขน กลีบเลี้ยง ๑ กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กลีบดอก ๑ กลีบ ออกตรงข้ามกับกลีบเลี้ยงและสั้นกว่า รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๒ ซม. มีขน ผลสุกสีแดง มีเมล็ดเล็กแข็ง ๑ เมล็ด รูปโค้งหรือเป็นรูปเกือกม้า ผิวขรุขระ

 กรุงเขมามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นริมแม่น้ำลำธารในป่าผลัดใบ บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๑๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แอฟริกา และอเมริกา

 ใช้รากเข้าในยาธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้ไข้และขับเสมหะ ใบใช้แก้หิด (Kirtikar, Basu and An, 1980; Perry and Metzger, 1980; Ayensu, 1981)

 กรุงเขมามีสารประกอบส่วนใหญ่เป็นพวกแอลคาลอยด์หลายชนิด เช่น cyclanoline, (+)-isochondodendrine, (-)-curine, hayatine, hayatinine, hayatidine, cissampareine, sepeerine, cissampeline และ bebeerine นอกจากนี้ ยังมี quercitol, sterol และ saponin (Thornber, 1970; Kirtikar, Basu and An, 1980; Perry and Metzger, 1980; Ayensu, 1981) ได้มีรายงานถึงฤทธิ์ของสารเคมีบางชนิดในกรุงเขมา คือ hayatine มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและลดความดันโลหิต ส่วน cissampareine มีพิษต่อเซลล์ (Ayensu, 1981).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กรุงเขมา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cissampelos pareira L. var. hirsuta (Buch. ex DC.) Forman
ชื่อสกุล
Cissampelos
คำระบุชนิด
pareira
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. hirsuta
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Buch. ex DC.) Forman
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ขงเขมา, พระพาย (กลาง); เครือหมาน้อย (ตะวันออกเฉียงเหนือ); สีฟัน (เพชรบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย