กริมเขา

Aporosa microstachya (Tul.) Müll.Arg.

ชื่ออื่น ๆ
น้ำผึ้งแดง (ตรัง), อะเนาะพาก้อ (มลายู-ปัตตานี)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้น เปลือกสีน้ำตาลอมเทา ล่อนเป็นแผ่นเล็กบาง ใบเรียงสลับ รูปขอบขนาน ช่อดอกเป็นช่อกระจุกสั้นออกตามง่ามใบ ดอกแยกเพศต่างต้น สีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมรี

กริมเขาเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงประมาณ ๕ ม. เรือนยอดแหลมคล้ายรูปกรวยคว่ำ เปลือกสีน้ำตาลอมเทา ลอกเป็นแผ่นเล็กบาง ๆ กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน แต่จะร่วงไปเมื่อกิ่งแก่

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือสอบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน มีขน โดยเฉพาะตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เมื่อแห้งใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำหรือเกือบดำ ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น สีเหลือง ขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอกช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดสั้น ๆ ออกตามง่ามใบเป็นกระจุก กระจุกละ ๕-๑๐ ช่อ แต่ละช่อยาวประมาณ ๕ มม. ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง ๔ กลีบ เกสรเพศผู้ ๒ อัน ช่อดอกเพศเมียออกเป็นกระจุกสั้น ๆ ตามง่ามใบ รังไข่มี ๒ ช่อง

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมรี่ ยาว ๑-๑.๓ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘ มม. มีขนประปราย เมื่อแก่สีเหลืองถึงสีส้มและแตกเป็น ๒ ซีก มี ๑ เมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดอ่อนนุ่ม สีเหลืองถึงส้ม

 กริมเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ขึ้นในป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๔๐๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนมกราคมถึงมีนาคม ผลสุกประมาณเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมในต่างประเทศพบที่พม่าและมาเลเซีย

 ใบใช้กินเป็นผักสดได้ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างแต่ไม่ทนทาน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กริมเขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aporosa microstachya (Tul.) Müll.Arg.
ชื่อสกุล
Aporosa
คำระบุชนิด
microstachya
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Tulasne, Louis René (‘Edmond’)
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Tulasne, Louis René (‘Edmond’) (1815-1885)
- Müller Argoviensis, Johannes (Jean) (1828-1896)
ชื่ออื่น ๆ
น้ำผึ้งแดง (ตรัง), อะเนาะพาก้อ (มลายู-ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม