ตองแตก

Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh

ชื่ออื่น ๆ
โคละ, โทะ, พอบอเจ๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ตองแต่ (ประจวบคีรีขันธ์); ถ่อนดี, ทนดี (กลาง, ตรัง); นอ
ไม้พุ่ม แตกกิ่งจากโคนต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน โดยทั่วไปรูปไข่หรือรูปขอบขนาน โคนมีต่อม ๒ ต่อม ขอบจักฟันเลื่อยห่างหรือหยักมน บางครั้งหยักลึก ๓-๕ หยัก เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวอมเหลืองอ่อนหรือสีเขียวอ่อนอมเหลืองอ่อน ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่เมื่อเป็นผล ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๓ พู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด เมล็ดทรงรูปไข่ สีน้ำตาล มีจุกขั้ว

ตองแตกเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. แตกกิ่งจากโคนต้น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน มีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ กัน โดยทั่วไปรูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๘-๒๑ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนมนหรือสอบแคบ มีต่อม ๒ ต่อม ขอบจักฟันเลื่อยห่างหรือหยักมนบางครั้งหยักลึก ๓-๕ หยัก ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนแข็งเอนทั้ง ๒ ด้าน เส้นโคนใบ ๓-๕ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๒-๑๓ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อดอกเล็กเรียว ช่อดอกเพศผู้ยาว ๑-๘ ซม. ช่อดอกเพศเมียยาว ๐.๑-๑ ซม. ดอกสีขาวอมเหลืองอ่อนหรือสีเขียวอ่อนอมเหลืองอ่อน ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้มีหลายดอก ก้านดอกเล็กเรียวคล้ายเส้นด้าย ยาว ๐.๒-๑.๒ ซม. เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๒-๓ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปกลมหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. โคนเชื่อมติดกัน มีต่อม ๕ ต่อม เกสรเพศผู้ ๑๐-๑๒ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๕-๑ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาวประมาณ ๐.๕ มม. จานฐานดอกรูปวงแหวน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ มม. ดอกเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔ มม. ก้านดอกยาว ๐.๒-๑ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยม บาง กว้าง ๐.๘-๑ มม. ยาว ๑-๒ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่เมื่อเป็นผล รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนสั้นนุ่ม รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๓ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแข็ง ยาว ๑.๕-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมีย ๓ ยอด แผ่กว้าง แต่ละยอดปลายแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑.๓ ซม. ปลายบุ๋ม มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน โคนมีกลีบเลี้ยงติดทน กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ผลแก่แตกตามยาวกลางพู มีแกนกลางผลติดทน มี ๓ พู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด เมล็ดทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๓.๕ มม. สีน้ำตาล ผิวคล้ายหินอ่อน มีจุกขั้ว

 ตองแตกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นในป่าดิบ ที่รกร้าง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมาเลเซีย

 ประโยชน์ มีสรรพคุณเป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตองแตก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh
ชื่อสกุล
Baliospermum
คำระบุชนิด
solanifolium
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Burman, Johannes
- Suresh, Cheriyachanasseri Ramachandran
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Burman, Johannes (1706-1779)
- Suresh, Cheriyachanasseri Ramachandran (1949-)
ชื่ออื่น ๆ
โคละ, โทะ, พอบอเจ๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ตองแต่ (ประจวบคีรีขันธ์); ถ่อนดี, ทนดี (กลาง, ตรัง); นอ
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต