ตาเหินอ่างขางเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ขึ้นบนหิน มักพบแตกกอห่าง มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ ซม. ค่อนข้างหนาและฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมอ่อน ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดินและเหง้า สูง ๖๐-๘๐ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มี ๖-๘ ใบ รูปรี รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปใบหอกกึ่งรูปไข่กว้าง พบน้อยที่เป็นรูปใบหอกกลับ กว้าง ๑๑-๑๘ ซม. ยาว ๒๘-๓๕ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเป็นคลื่น แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน ส่วนใกล้โคนเป็นร่องลึกไปถึงก้านใบ นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงค่อนข้างขนานกัน ก้านใบยาวได้ถึง ๑ ซม. หรือไร้ก้าน ลิ้นใบสีแดง เป็นเยื่อค่อนข้างบางและโปร่งแสง รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๒.๕-๒.๘ ซม. ปลายมนหรือตัด เกลี้ยง กาบใบสีออกเขียว ตามขอบกาบสีแดง ค่อนข้างหนาและอวบน้ำ มี ๒-๓ กาบที่อยู่ใกล้โคนลำต้นเทียมไม่มีแผ่นใบ กาบที่อยู่เหนือขึ้นไปยาวได้ถึง ๘๐ ซม. เรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายลำต้นเทียม รูปทรงกระบอกหรือรูปกรวยกว้างแกมรูปขอบขนาน ตั้งขึ้น ยาว ๑๗-๒๕ ซม. มี ๒๐-๗๐ ดอก ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอก ยาว ๑-๕ ซม. ใบประดับที่โคนก้านช่อดอกหนาคล้ายแผ่นหนัง รูปคล้ายใบ ถัดขึ้นไปมีใบประดับจำนวนมากอยู่ค่อนข้างห่าง สีเขียว รูปใบหอก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๑-๑.๓ ซม. สีเขียวอมเหลือง เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีส้มอมแดง เกลี้ยง มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปกระสวยถึงรูปทรงกลม แต่ละผลมี ๕-๑๐ เมล็ด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ มม. มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง
ตาเหินอ่างขางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามภูเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๑,๓๕๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่จีน.