ชาดงรัก

Dorcoceras geoffrayi (Pellegr.) C. Puglisi

ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นสั้น ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน รูปไข่กลับ รูปรีกว้าง หรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ใบที่อยู่ด้านบนมีขนาดเล็กกว่าใบที่อยู่ด้านล่าง ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายลำต้น ดอกสีขาวอมม่วงอ่อนหรือสีคราม ผลแบบผลแห้งแตกรูปทรงกระบอกแคบ บิดเป็นเกลียวห่าง สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดจำนวนมากรูปคล้ายกระสวย สีน้ำตาล

ชาดงรักเป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นสั้น มีรากขนาดเล็กออกเป็นกระจุก

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อนรูปไข่กลับ รูปรีกว้าง หรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดกว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓-๗ ซม. ใบที่อยู่ด้านบนมีขนาดเล็กกว่าใบที่อยู่ด้านล่าง ปลายสอบแหลม โคนสอบเรียวไปถึงก้านใบ ขอบหยักมน แผ่นใบค่อนข้างหนาและยับย่น ด้านบนเป็นร่อง มีขนยาวหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ก้านใบสั้น

 ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายลำต้น มีได้หลายช่อ ก้านช่อยาว ๕-๘ ซม. แกนช่อยาว ๑-๒ ซม. ทั้งก้านและแกนช่อสีม่วงอมแดง มีขนต่อมหนาแน่น ปลายขนมีเมือกเหนียว ดอกสีขาวอมม่วงอ่อนหรือสีคราม ก้านดอกยาว ๐.๖-๑ ซม. โคนก้านโป่งเล็กน้อย กลีบเลี้ยงสีน้ำตาลอมม่วง โคนเชื่อมติดกัน ยาวได้ถึง ๑ มม. ปลายแยกคล้ายดาว ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปรีแคบ กว้างประมาณ ๐.๖ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนต่อมสีม่วงอมแดงประปราย บริเวณหลอดด้านนอกมีขนหนาแน่น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังสั้น ยาว ๔.๕-๖ มม. ปลายมี ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก รูปไข่กว้างหรือรูปเกือบกลม กว้างและยาว ๔-๖ มม. ปลายมนกลม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ที่สมบูรณ์มี ๒ เกสร


ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๕-๓ มม. สีขาว เป็นข้องอเล็กน้อยอับเรณูรูปคล้ายหัวใจ กว้างและยาว ๑.๕-๑.๘ มม. สีเหลือง ปลายอับเรณูจดติดกัน เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร เป็นหมัน อยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอกลดรูปเหลือเป็นติ่งขนาดเล็กหรือหายไป รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอกแคบ กว้างประมาณ ๑ มม.

ยาวประมาณ ๓.๕ มม. สีน้ำตาลอมเขียว มีขนต่อมหนาแน่น ปลายขนมีหยดเมือกเหนียว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๔-๕ มม. สีขาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม สีเขียวอมน้ำตาล

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. บิดเป็นเกลียวห่าง สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน บางครั้งมีส่วนของก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดจำนวนมาก รูปคล้ายกระสวย สีน้ำตาล

 ชาดงรักมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก พบตามหน้าผาเขาหินทรายที่มีแสงรำไร ที่สูงจากระดับทะเล ๒๕๐-๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายนเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาดงรัก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dorcoceras geoffrayi (Pellegr.) C. Puglisi
ชื่อสกุล
Dorcoceras
คำระบุชนิด
geoffrayi
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pellegrin, François
- Puglisi, Carmen
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Pellegrin, François (1881-1965)
- Puglisi, Carmen (fl. 2011)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ