ข้าวฟ่างสมุทรโคดมเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตั้งตรง สูง ๐.๖-๖ ม. ลำต้นตันมีไส้คล้ายฟองน้ำ น้ำในลำต้นมีปริมาณไม่แน่นอน รสจืดหรือหวานขึ้นอยู่กับพันธุ์ ลำต้นมีข้อ ๗-๒๔ ข้อ ใกล้ข้อมีขนสีขาว
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบหรือรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๑๕ ซม. ยาว ๐.๓-๑.๔ ม. ปลายเรียวแหลม โคนป้าน ใบอ่อนขอบจักฟันเลื่อยละเอียด ใบแก่ขอบเรียบ แผ่นใบเรียบ มีไขสีขาวเคลือบ เส้นกลางใบค่อนข้างใหญ่ สีแตกต่างจากแผ่นใบ กาบใบยาว ๑๕-๓๕ ซม. ลิ้นใบยาวประมาณ ๒ มม. ติ่งใบรูปสามเหลี่ยมหรือรูปใบหอก
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ประกอบด้วยช่อแขนงแบบช่อกระจะซึ่งแตกแขนงอีก ๒ หรือ ๓ ครั้ง ช่อดอกย่อยออกเป็นคู่ ไร้ก้านและมีก้าน ยกเว้นที่ปลายแขนงช่อออกเป็น ๓ คือ ไร้ก้าน ๑ ช่อ และมีก้าน ๒ ช่อ ช่อดอกย่อยมีก้าน ก้านยาวไม่เท่ากัน เป็นดอกเพศผู้ขนาดเล็กและแคบกว่าช่อดอกย่อยไร้ก้าน มีกาบช่อดอกย่อย ๒ กาบ ดอกย่อยมี ๒ ดอก มีแต่กาบล่างไม่มีกาบบน ดอกล่างไม่เจริญ ดอกบนเป็นดอกเพสผู้ มีกลีบเกล็ด ๒ อัน เกสรเพศผู้ ๓ อัน ช่อดอกย่อยไร้ก้าน รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่กลับ ยาว ๓-๑๐ มม. กาบ ๒ กาบ รูปไข่กลับ รูปรีหรือรูปไข่ ยาวใกล้เคียงกัน กว้าง ๓-๔.๕ มม. ยาว ๔-๖ มม. เส้นตามยาว ๖-๑๘ เส้น เนื้อกาบคล้ายแผ่นหนัง หรือคล้ายกระดาษ กาบล่างซ้อนทับกาบบนเล็กน้อย กาบบนแคบกว่ากาบล่าง ดอกย่อยมี ๒ ดอก ดอกล่างไม่สมบูรณ์ มีเพียงกาบล่าง ดอกบนสมบูรณ์เพศ กาบล่าง ปลายมี ๒ จัก เนื้อบางมีรยางค์ที่ปลาย รยางค์งอและบิดหมุน กาบบนมักไม่มี ถ้ามีมีขนาดสั้นและบาง กลีบเกล็ด ๒ อัน เกสรเพศผู้ ๓ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ เส้น ยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่มเป็นพู่
ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๘ มม. มักมีกาบติดทนรองรับ
ข้าวฟ่างสมุทรโคดมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา แพร่กระจายไปยังทวีปเอเชียและทวีปอื่น ๆ ในประเทศไทยนำมาปลูกทั่วไปตามภาคต่าง ๆ
ข้าวฟ่างสมุทรโคดมเป็นพืชทนแล้งได้ดี มีหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์นำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ กัน เช่น พันธุ์ sorgo ใช้เป็นอาหารสัตว์และทำน้ำเชื่อมเพราะในลำต้นมีน้ำหวานอยู่ถึงร้อยละ ๑๐ บางพันธุ์ใช้เมล็ดทำเบียร์และเหล้า พันธุ์ที่มีก้านช่อยาวและแข็ง หลังจากนวดเอาเมล็ดออกแล้วนำก้านช่อมาทำไม้กวาด เมล็ดใช้คั่วหรือทำขนมกินได้ ใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย นก และสัตว์ปีกอื่น ๆ ทั้งยังใช้ประโยชน์อื่นได้อีกหลายอย่าง ลำต้นและใบหลังเก็บเกี่ยวใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ เมล็ดที่ผึ่งให้แห้งประกอบด้วย น้ำร้อยละ ๘-๑๖ โปรตีนร้อยละ ๘-๑๕ ไขมันร้อยละ ๒-๕ คาร์โบไฮเดรตร้อยละ ๖๘-๗๔ เส้นใยร้อยละ ๑-๓ เถ้าร้อยละ ๑.๕-๒ องค์ประกอบของต้นสดไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับอายุและพันธุ์โดยทั่วไปประกอบด้วยน้ำร้อยละ ๗๘-๘๖ ต้นแห้งมีโปรตีนร้อยละ ๑๒ คาร์โบไฮเดรตร้อยละ ๔๐-๕๐ และเส้นใยร้อยละ ๒๐-๓๐ ลำต้นและใบมีสารไกลโคไซด์ เรียกว่า dhurrin ซึ่งเมื่อสลายตัวโดยเอนไซม์แล้วจะให้กรดไฮโดรไซยานิก ซึ่งเป็นพิษอย่างร้ายแรง แต่ปริมาณของกรดมีมากน้อยไม่เท่ากันทุกพันธุ์ และแปรตามการเจริญเติบโตด้วย ยิ่งอายุมากกรดจะลดลง ปุ๋ยหมักไนโตรเจนทำให้ปริมาณกรดสูง แต่พิษจากกรดนี้จะถูกทำลายหากทำเป็นฟางแห้ง หรือหญ้าหมัก.