กรายดำ

Hopea oblongifolia Dyer var. grandis C.E.C.Fisch.

ชื่ออื่น ๆ
หมอราน (กระบี่)
ไม้ต้น เปลือกสีเทาคล้ำ ล่อนเป็นแผ่น ใบเรียงสลับ รูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ดอกสีชมพู ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลมรี มีปีกยาว ๒ ปีก ปีกสั้น ๓ ปีก

 กรายดำเป็นไม้ต้น สูงถึง ๒๕ ม. เปลือกสีเทาคล้ำล่อนเป็นแผ่น เปลือกในเป็นเส้น สีชมพู เนื้อไม้สีขาว แก่นสีน้ำตาลแดง ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย แต่ขนจะร่วงไป เมื่อกิ่งแก่

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง ๖-๑๐ ซม. ยาว ๑๕-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนและเฉียง เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๑๐ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑.๕-๒ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ดอกสีชมพู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๓ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ ปลายมน ยาวประมาณ ๕ มม. มีขนสีขาวคล้ายเส้นไหมเล็กน้อย กลีบดอกมีจำนวนเท่ากับกลีบเลี้ยง เรียงซ้อนเวียนกันคล้ายกังหัน รูปขอบขนาน โค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. มีขนสีขาวคล้ายเส้นไหม เกสรเพศผู้ ๑๕ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนเล็กน้อย

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลมรี ปลายแหลม กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ผิวแข็ง มีปีกซึ่งเกิดจากการพัฒนาของกลีบเลี้ยง ๕ ปีก ขนาดไม่เท่ากัน ปีกสั้น ๓ ปีก ยาวประมาณ ๓ ใน ๔ ของความยาวผลและหุ้มตัวผล ปีกยาว ๒ ปีก กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๑๐-๑๒ ซม.

 กรายดำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ขึ้นในป่าดิบที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๓๐๐ ม. ออกดอกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ผลแก่ประมาณเดือน มีนาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่พม่าตอนใต้

 เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างในร่ม

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กรายดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hopea oblongifolia Dyer var. grandis C.E.C.Fisch.
ชื่อสกุล
Hopea
คำระบุชนิด
oblongifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Dyer, William Turner Thiselton (Thistleton)
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. grandis
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- C.E.C.Fisch.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1843-1928)
ชื่ออื่น ๆ
หมอราน (กระบี่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม