เครือตาปลาเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เลื้อยขึ้นยอดต้นไม้ใหญ่ กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม แต่จะร่วงไปเมื่อแก่
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ก้านใบยาว ๔-๕ ซม. แกนกลางยาว ๒๐-๒๕ ม. ใบย่อย ๑๑-๑๕ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปขอบขนานกว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๔.๕-๗ ซม. ปลายแหลม โคนมนถึงเว้าขอบเรียบ แผ่นใบด้านล่างสีจางและมีขนมากกว่าด้านบน ก้านใบย่อยยาว ๑-๒ มม. หูใบคล้ายเส้นด้าย เรียว ยาว ๔-๕ มม. ร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาว ๓-๖ ซม. ดอกรูปดอกถั่วยาว ๑-๑.๒ ซม. ก้านดอกยาว ๕-๗ มม. ใบประดับเรียวแคบ ยาวประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปลายหยักตื้น ๕ หยัก มีขน กลีบดอก ๕ กลีบ สีเหลือง กลีบกลางรูปโล่ ปลายหยักเว้า มีขนาดใหญ่กว่ากลีบอื่นเส้นผ่านศูนย์กลาง ๘-๙ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ก้าน ชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่นหุ้มเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือ วงกลีบ รูปขอบขนานแกมรูปแถบ มีขน มี ๑ ช่อง ออวุล ๑๑-๑๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้ง ยอดเกสรเพศเมียขนาดเล็กมาก
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบน กว้าง ๑.๖-๑.๙ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. โคนและปลายแหลมมีลายร่างแห่โปร่งเห็นชัดเจน มีขนนุ่มประปราย ขอบฝักมีครีบตามรอยเชื่อมด้านหลัง กว้างประมาณ ๒ มม. ฝักอ่อนสีฟางข้าว ฝักแก่สีนํ้าตาล ก้านสั้น มี ๑-๒ เมล็ด เมล็ดรูปทรงรี แบนด้านข้าง กว้างประมาณ ๐.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑ ซม.
เครือตาปลามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบขึ้นในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับนํ้าทะเลไม่เกิน ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่ลาว.