ตานเสี้ยนไม้เป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางด้านข้าง ขึ้นเป็นกลุ่มเล็ก รากออกเป็นกระจุกจากโคนต้นต้นเรียวเล็ก มีใบปกคลุมตลอดทั้งต้น กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวได้ถึง ๓๐ ซม.
ใบเดี่ยว แบนทางด้านข้าง เรียงสลับระนาบเดียวรูปไข่ เบี้ยวเล็กน้อย กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. ปลายแหลม โคนเป็นกาบหุ้มต้นและหุ้มกาบใบที่อยู่เหนือขึ้นไป แผ่นใบสีเขียวหรือสีเขียวอมน้ำตาล ค่อนข้างหนาและแข็ง ไม่เห็นเส้นใบ ผิวเรียบ
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ มีใบประดับย่อยสีน้ำตาลเป็นแผ่นบางและแห้งจำนวนมาก ปลายใบประดับย่อยเป็นเส้น ๆ ค่อนข้างแข็งดอกสีขาวอมเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอ่อน มีขีดสีม่วงตามแนวเส้นกลีบ ดอกทยอยบานครั้งละ ๑ ดอก ก้านดอกรวมรังไข่ยาวประมาณ ๕ มม. ดอกเมื่อบานขนาดประมาณ ๘ มม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนรูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบด้านข้างรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม เบี้ยวเล็กน้อย กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. โคนติดทาบไปกับคางเส้าเกสรที่อยู่ในแนวเกือบตั้งฉากกับรังไข่และก้านดอก มีลักษณะคล้ายคาง กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบข้างรูปรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. กลีบปากอยู่ในแนวขนานกับเส้าเกสร รูปคล้ายรูปไข่กลับ ช่วงปลายกว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายตัด หยักเว้าเล็กน้อย ช่วงโคนสอบ กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. แนวกลางกลีบหนามีเนื้อนูนเป็นสันเตี้ย ปลายสันมีหยักตื้น ๒-๓ หยัก เส้าเกสรสั้นมาก ฝาครอบกลุ่มเรณูรูปคล้ายหมวก กลุ่มเรณูรูปทรงรี มี ๒ คู่ แต่ละคู่มี ๒ กลุ่มอยู่ชิดกัน ไม่มีก้านกลุ่มเรณู รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่งตื้น อยู่ทางด้านหน้าเส้าเกสรใต้อับเรณู
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม โคนสอบ กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. เมล็ดขนาดเล็กคล้ายผง มีจำนวนมาก
ตานเสี้ยนไม้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าผลัดใบและป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ลาว และภูมิภาคมาเลเซีย.