ข้าวตากเป็นไม้ต้น สูงไม่เกิน ๕ ม. ลำต้นมักคดงอและแตกกิ่งก้านสาขา เปลือกสีเทามักแตกเป็นสะเก็ด เรือนยอดค่อนข้างโปร่ง แตกกิ่งไม่เป็นระเบียบ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานถึงรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๖ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. ปลายทู่ เรียวแหลม หรือเป็นติ่งยาว โคนทู่หรือมนและโดยมากมักเบี้ยว ขอบจักฟันเลื่อยถี่หรือหยักไม่เป็นระเบียบ ด้านล่างมีขนมาก เส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นที่อยู่ด้านข้าง ๒ เส้นยาวเกินครึ่งของเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบเส้นขั้นบันไดพอสังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๒-๑ ซม. มีขนแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๑-๓ ซม. ตั้งขึ้น ก้านช่อยาวได้ถึง ๕ มม. ดอกเล็ก สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ก้านดอกยาว ๑-๔ มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ ๕ กลีบ กลีบเลี้ยงรูปใบหอก กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๕-๘ มม. กลีบดอกรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนทั้ง ๒ ด้าน ขอบกลีบมีขนยาว เกสรเพศผู้มีมาก ติดรวมเป็นกระจุกล้อมรอบรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ค่อนข้างกลม มีขนแน่น มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวไล่เลี่ยกับเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียผายป้าน
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลม มี ๒-๔ พู ผิวเกลี้ยงเป็นมัน เมล็ดแข็ง มีจำนวนเท่ากับพูของผล
ข้าวตากมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าบริเวณเขาหินปูนทั่วไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเป็นผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ชาวพื้นเมืองใช้เปลือกฟั่นทำเชือก สำหรับไว้ใช้ทางเกษตรกรรม.