เครือด่าวเป็นไม้พุ่มหรือไม้รอเลื้อย สูง ๐.๓-๒ ม. แตกเป็นกอ ลำต้นเดี่ยวหรือแตกกิ่งมาก กิ่งอ่อนรูปคล้ายทรงกระบอก มีนวล มีริ้วบาง ๆ ผิวเรียบหรือมีหนามยาวประมาณ ๑ มม. ประปราย
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปร่างของใบมีความผันแปรมาก ใบอ่อนรูปขอบขนานแกมรูปไข่ถึงรูปรีแกมรูปไข่บางครั้งพบรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกหรือรูปรี ใบแก่รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปไข่กลับ กว้าง (๒-)๔-๑๐ ซม. ยาว (๕-)๑๐-๑๕(-๑๘) ซม. ปลายเว้าตื้น เรียวสอบถึงมนหรือแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวด้านล่างมีนวลและเป็นผงสีขาว เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น นูนเด่นทางด้านล่างของแผ่นใบ เส้นที่อยู่ตรงกลาง ๓ เส้น โคนเชื่อมติดกันจากโคนใบ ๕-๗ มม. ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. โคนก้านเป็นกาบยาว ๓-๕ มม. และมีปีกบางแคบทั้ง ๒ ข้าง กว้างประมาณ ๐.๕ มม. มีมือพันสั้น ๆ หรือไม่มี
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม มี ๑-๒ ช่อ ออกตามซอกใบของกิ่งที่อยู่ตอนบนของต้น แกนช่อสั้น ยาว ๓-๕ มม. ส่วนมากจะอยู่ภายในกาบใบ ที่โคนแกนของช่อดอก มีใบประดับรูปไข่ ยาว ๕-๗ มม. ปลายเรียวแหลม ก้านช่อดอกยาว ๑-๒ ซม. ค่อนข้างอวบ ดอกสีเขียวอ่อนหรือสีนวล ช่อดอกเพศผู้มี ๑๕-๔๐ ดอก กลีบรวม ๖ กลีบ แยกกัน กลีบโค้งลง กลีบวงนอกรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๓-๔ มม. ปลายมนกลีบวงในรูปแถบ กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. ปลายมนเกสรเพศผู้ ๖ เกสร ก้านชูอับเรณู ยาว ๒.๕-๓ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๐.๗-๑ มม. ช่อดอกเพศเมียมี ๑๐-๑๗ ดอก ฐานช่อดอกรูปรี ยาว ๔-๕ มม. หนา ๒ มม. กลีบรวม ๖ กลีบ แยกกันและกางออกกลีบวงนอกรูปใบหอก กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. ปลายแหลม มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๓ เกสร รูปคล้ายเข็ม ยาว ๑.๒-๑.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ กว้าง ๑.๒-๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นยอดเกสรเพศเมีย ๓ ยอด ยาว ๐.๗-๑ มม. โค้งลง
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๘ มม. สุกสีแดง เมล็ด ๑-๒ เมล็ด
เครือด่าวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าหญ้าและตามป่าบนเขา ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๕๐-๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.