ตาเหินหลวงเป็นไม้ล้มลุกหลายปี บางครั้งพบเป็นพืชอิงอาศัย มักพบเป็นต้นเดี่ยวหรือแตกกอ เหง้าค่อนข้างใหญ่ ฉ่ำน้ำ มีกลิ่นหอมอ่อน ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่นชูเหนือดิน สูง ๐.๗-๓.๒ ม.
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มี ๕-๙ ใบ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒๔-๓๓ ซม. ยาว ๓๖-๕๐ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขน เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน ส่วนใกล้โคนเป็นร่องลึกไปถึงก้านใบ นูนชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงค่อนข้างขนานกัน ก้านใบสั้น ลิ้นใบสีเขียวอมแดงหรือสีส้มอมแดง รูปขอบขนาน กว้าง ๕-๖ ซม. ยาว ๔.๓-๖ ซม. เป็นเยื่อค่อนข้างบางและโปร่งแสง มีขน ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๒ แฉก ปลายสุดมน กาบใบสีเขียว ค่อนข้างหนาและอวบน้ำ มี ๒-๔ กาบที่อยู่ใกล้โคนลำต้นเทียมไม่มีแผ่นใบ กาบที่อยู่เหนือขึ้นไปสูงได้ถึง ๒.๕ ซม. เรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะ ออกที่ปลายลำต้นเทียม ตั้งขึ้น ยาว ๓๕-๕๓ ซม. มีขน ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอก ยาว ๑๒.๕-๒๑ ซม. มีขน มีใบประดับ ๒๐-๕๐ ใบ ใบประดับที่โคนก้านช่อหนาคล้ายแผ่นหนัง รูปคล้ายใบ ถัดขึ้นไปมีใบประดับค่อนข้างโปร่ง สีเขียว กางออก รูปใบหอกถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๓-๓ ซม. ยาว ๖-๗ ซม. ม้วนเป็นหลอด ปลายแหลม มีขน ใบประดับย่อยสีเขียวอ่อน ค่อนข้าง
ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่หรือรูปทรงกระบอก กว้าง ๑.๔-๑.๘ ซม. ยาว ๓.๒-๓.๙ ซม. สีเขียว มีขน มีใบประดับ ใบประดับย่อย และกลีบเลี้ยงขยายใหญ่ ติดทน เมล็ดรูปทรงรี มีจำนวนมาก กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงอมส้ม
ตาเหินหลวงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบบริเวณพื้นล่างของป่าสนและป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑,๐๐๐-๑,๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เป็นผลเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน เนปาล บังกลาเทศ เมียนมา จีน และเวียดนาม.