ตานเสี้ยน ๓

Xantolis siamensis (H. R. Fletcher) P. Royen

ไม้ต้น กิ่งคล้ายทรงกระบอกหรือเป็นเหลี่ยม มีริ้ว ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกบนกิ่งสั้น รูปคล้ายช้อนหรือรูปรีอาจพบรูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดหรือรูปขอบขนาน ดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุกบนกิ่งงันที่มีใบ สีนวลหรือสีเหลืองอมเขียวอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด

ตานเสี้ยนชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงประมาณ ๑๒ ม. กิ่งคล้ายทรงกระบอกหรือเป็นเหลี่ยม มีริ้ว เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นกระจุกบนกิ่งสั้น รูปคล้ายช้อนหรือรูปรี อาจพบรูปคล้ายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๖-๒ ซม. ยาว ๒-๔.๕ ซม. ปลายมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนและแบนทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น ปลายโค้งเชื่อมกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว ๒-๓ ซม. เกลี้ยง

 ดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุกบนกิ่งงันที่มีใบ ก้านดอกยาว ๓-๔ มม. คล้ายทรงกระบอกหรือเป็นเหลี่ยมมีขนสีขาวประปราย ดอกสีนวลหรือสีเหลืองอมเขียวอ่อนกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๒.๓-๔ มม. มีขนสั้นนุ่มสีออกเทาหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ขอบของกลีบเลี้ยงวงในบางเป็นเยื่อ กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาว ๓-๓.๕ มม. ก้านชูอับเรณูรูปลิ่มแคบ ยาว ๑.๕-๒ มม. อับเรณูยาว ๒-๒.๓ มม. แกนมีขนหยาบแข็งสีเหลืองแกมสีขาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓-๔ มม. มีขนหยาบแข็งที่โคน

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด

 ตานเสี้ยนชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าละเมาะ ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๕๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ยังไม่พบการติดผลในประเทศไทย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตานเสี้ยน ๓
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xantolis siamensis (H. R. Fletcher) P. Royen
ชื่อสกุล
Xantolis
คำระบุชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Fletcher, Harold Roy
- Royen, Pieter van
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Fletcher, Harold Roy (1907-1978)
- Royen, Pieter van (1923-2002)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ประนอม จันทรโณทัย