ช้างไห้ชนิดนี่เป็นไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูงได้ถึง ๔๐ ม. มีพูพอนสูง ๒-๓ ม. และมีรากหายใจรูปบ่วงเปลือกสีน้ำตาล แตกเป็นร่อง กิ่งมีช่องอากาศและมีขนรูปดาวสีเหลือง มีรอยแผลใบชัดเจน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๙-๑๒ ซม. ยาว ๑๗-๒๐ ซม. ปลายเว้าตื้น มน หรือตัด โคนค่อนข้างแคบถึงรูปลิ่มหรือรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังเกลี้ยง ยกเว้นบริเวณเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบด้านล่างมีขนรูปดาวและมีเกล็ด เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๕ เส้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๓-๔.๕ ซม. โคนและปลายก้านใบป่อง เกลี้ยง หูใบรูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกเหนือรอยแผลใบ ยาว ๔-๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑.๕-๒ ซม. มีขนและเกล็ดหนาแน่น ดอกตูมรูปกรวยเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. มี ๓-๑๑ ดอก ใบประดับรูปไข่ ร่วงง่าย มีเกล็ดด้านนอก ริ้วประดับรูประฆังเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. ปลายมี ๓-๕ แฉก มีเกล็ดด้านนอก กลีบเลี้ยงสีน้ำตาล รูปถ้วย เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑-๑.๕ มม. ด้านนอกมีเกล็ดสีน้ำตาล ด้านในมีขนบริเวณใกล้โคนกลีบเลี้ยง กลีบดอกสีแดง มี ๕ กลีบ รูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. เกสรเพศผู้จำนวนมากก้านชูอับเรณูยาว ๒-๕ มม. อับเรณูรูปไต รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๕-๑๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นปุ่มกลม
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลมหรือทรงรีมี ๕ พู กว้าง ๘-๑๐ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. เมื่อแห้งเป็นสีน้ำตาลดำ เปลือกแข็ง ด้านนอกมีตุ่มหนามสั้นและมีขนสีน้ำตาล หลุดร่วงเมื่อแก่ ด้านในมีขนหยาบแข็งหนาแน่น สีน้ำตาลอ่อน ใส เป็นมัน แข็ง กรอบและคม เมล็ดจำนวนมาก สีน้ำตาลเข้ม รูปทรงรีแกมรูปขอบขนานหรือทรงรูปไข่กลับ ค่อนข้างแบน กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. ผิวเกลี้ยง
ช้างไห้ชนิดนี่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนตุลาคมถึงมีนาคมในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างภายในอาคารบ้านเรือน
โทษ ขนจากทุกส่วนของต้นทำให้เกิดอาการคัน.