ข้าวตอกหอม

Chionanthus amblirrhinus P. S. Green

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเรียงตรงข้ามรูปไข่กลับแกมรูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม สุกสีดำ มี ๑ เมล็ด

ข้าวตอกหอมเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับแกมรูปใบหอกกลับค่อนข้างกว้าง กว้าง ๓-๖.๕ ซม. ยาว ๘-๑๑ ซม. ปลายมนถึงเว้าตื้น มักจะมีติ่งแหลมอ่อนหันลง โคนสอบแหลม ขอบเรียบ เส้นแขนงใบมีข้างละ ๖-๗ เส้น นูนเล็กน้อยทั้ง ๒ ด้าน แผ่นใบค่อนข้างหนา ก้านใบยาว ๗-๑๐ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาว ๑-๔ ซม. แกนกลางช่อออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ มีตั้งแต่ ๕ ดอกขึ้นไป ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แฉกรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม ยาว ๐.๕-๐.๘ มม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปขอบขนาน กว้าง ๐.๕-๐.๘ มม. ยาว ๒-๓ มม. เกสรเพศผู้ ๒ อัน อับเรณูรูปรีค่อนข้างกว้าง ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านชูอับเรณู ยาวประมาณ ๐.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายขวด ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๐.๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม กว้าง ๗-๘ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. สุกสีดำ มี ๑ เมล็ด

 ข้าวตอกหอมเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นในทุ่งหญ้าที่เป็นหินปูน ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๓๐-๕๕๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนเมษายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข้าวตอกหอม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Chionanthus amblirrhinus P. S. Green
ชื่อสกุล
Chionanthus
คำระบุชนิด
amblirrhinus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Green, Peter Shaw
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Green, Peter Shaw (1920-2009)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์