ตานเสี้ยน ๒

Xantolis burmanica (Collett et Hemsl.) P. Royen

ไม้ต้น ลำต้น กิ่ง และใบมียางสีขาว กิ่งคล้ายรูปทรงกระบอกหรือแบน มีขนประปราย ช่องอากาศรูปรีเห็นชัดใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแคบถึงรูปรีกว้างหรือรูปไข่กลับ ดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ สีนวลหรือสีเหลืองอมเขียว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีแกมทรงรูปไข่ เมล็ดรูปรีแบน สีน้ำตาล มี ๑-๒ เมล็ด

ตานเสี้ยนชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงประมาณ ๑๓ ม. ลำต้น กิ่ง และใบมียางสีขาว กิ่งคล้ายรูปทรงกระบอกหรือแบน มีขนประปราย เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง อาจจะมีหนาม ช่องอากาศรูปรีเห็นชัด

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแคบถึงรูปรีกว้างหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๖-๑๔.๕ ซม. ปลายแหลม แหลมค่อนข้างมน หรือมน โคนสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษหรือหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบอ่อนมีขนประปราย เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง เส้นกลางใบนูนหรือแบน มีสันด้านบน มีขนหนาแน่นหรือประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๑๖ เส้น ปลายโค้งเชื่อมกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว ๐.๕-๒ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีขาวหนาแน่น เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง

 ดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ จำนวน ๒-๘ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๖-๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีขาวหนาแน่น ดอกสีนวลหรือสีเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงเป็น ๓ ชั้น ชั้นนอก ๒ กลีบ รูปไข่ กว้าง ๒.๗-๓ มม. ยาว ๕-๕.๘ มม. ผิวด้านนอกมีขนสั้นนุ่มหนา ด้านในมีขนคล้ายไหมสีน้ำตาลแดงยกเว้นที่โคนเกลี้ยง ชั้นที่สองมี ๒ กลีบ รูปไข่แคบหรือรูปใบหอก กว้าง ๒.๓-๓.๕ มม. ยาว ๕.๓-๗ มม.


ขอบเป็นเยื่อ มีขนคล้ายไหมสีน้ำตาลแดงทั้ง ๒ ด้าน ยกเว้นที่โคนด้านในเกลี้ยง ชั้นในสุดมี ๑ กลีบ รูปไข่แคบหรือรูปไข่กว้าง กว้าง ๒.๓-๓.๓ มม. ยาว ๕.๖-๖.๕ มม. บางเป็นเยื่อ มีขนคล้ายไหมสีน้ำตาลแดงทั้ง ๒ ด้าน ยกเว้นที่โคนด้านในเกลี้ยง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๘-๒.๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๒-๒.๕ มม. ยาว ๔.๗-๕.๕ มม. เกลี้ยง อาจมีขนสั้นนุ่มหนาแน่นที่ขอบของโคนแฉก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาว ๔.๕-๕.๕ มม. ก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย ยาว ๑.๒-๒.๒ มม. อับเรณูรูปหัวลูกศรยาว ๓-๓.๕ มม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปขอบขนานหรือรูปไข่และเว้า กว้าง ๑.๒-๒.๓ มม. ยาว ๓-๔.๕ มม. ผิวเกลี้ยง ที่ปลายมีรยางค์แข็ง ขอบมีขนสั้นหนานุ่มเป็นชายครุย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด มีขนหยาบแข็งสีน้ำตาล ก้านเกสรเพศเมียยาว ๐.๖-๑.๑ มม. มี ๕ สัน เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีแกมทรงรูปไข่ กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๒-๔ มม. เมล็ดรูปรีแบน สีน้ำตาล มี ๑-๒ เมล็ด

 ตานเสี้ยนชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นในป่าเต็งรังผสมก่อ ป่าสน และป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงมกราคมในต่างประเทศพบที่เมียนมา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตานเสี้ยน ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xantolis burmanica (Collett et Hemsl.) P. Royen
ชื่อสกุล
Xantolis
คำระบุชนิด
burmanica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Collett, Henry
- Hemsley, William Botting
- Royen, Pieter van
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Collett, Henry (1836-1901)
- Hemsley, William Botting (1843-1924)
- Royen, Pieter van (1923-2002)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ประนอม จันทรโณทัย